สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วันที่ก้าวข้าม Trans-Himalayan

วันที่ก้าวข้าม Trans-Himalayan

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


จากเมืองมนาลีสู่ลาดักห์ บนเส้นทางสาย Trans-Himalayan ถนนที่ได้ชื่อว่า “อันตรายที่สุดในโลก”

ถ้ารู้มาก่อนล่วงหน้าว่าจะต้องพบกับอุปสรรคหนักหนา วันนั้น...ฉันอาจไม่เลือกเส้นทางสายนี้ และวันนี้...ฉันคงไม่ตระหนักว่า "ตราบใดที่หัวใจยังเต้น ชีวิตคือสิ่งที่สวยงาม"

คืนนั้นอากาศเย็นเยือกจากสายฝนที่พร่ำลงมา ตี 1 เสียงปลุกจากโทรศัพท์มือถือข้างตัวดังขึ้น... ฉันกระโดดขึ้นจากเตียง คว้าเสื้อกันหนาวที่เตรียมไว้แล้วล่วงหน้า ล้างหน้า แปรงฟัน จากนั้นหอบเป้ใบใหญ่พร้อมออกเดินทาง

บรรยากาศภายนอกมืดสนิท ไม่มีแสงไฟ เสียงผู้คน ทุกอย่างนิ่ง สงบ ไอเย็นจากภายนอกลอยมากระทบผิวกาย ความรู้สึกโดดเดี่ยว เวิ้งว้างเข้ามาครอบงำจิตใจ หันไปดูรอบกายมีเพียงเงาดำของสวนแอปเปิลในย่านเมืองเก่ามนาลี รัฐหิมาจัลประเทศ ของประเทศอินเดีย ยืนเคียงข้างคอยเป็นเพื่อน ดึกสงัดแบบนี้กับการเดินทางคนเดียว ความรู้สึกในเวลานั้นคือ "ความกลัว"

1.

ตี 2 คือเวลานัดหมายกับมินิบัสจากเมืองมนาลีสู่ลาดักห์ จากที่พักในโอลล์มนาลีต้องเดินไต่ลงตามทางเล็กๆ ที่มืดสนิท มีเพียงไฟฉายกระบองเล็กที่ช่วยส่องทาง นี่เสมือนเกมวัดใจ

เงาตะคุ่มของฉันทำให้สุนัขฝูงใหญ่ที่รอคอยอยู่แล้วด้านล่าง ส่งเสียงเห่าลั่น...ใครหนอช่างกะเกณฑ์เวลาออกเดินทางในยามวิกาลแบบนี้

การเดินทางสู่เมืองเลห์ เมืองหลวงของเขตลาดักห์ จากเมืองมนาลีมีทางเลือก 2 ทางคือ โดยสารรถบัสท้องถิ่นใช้เวลา 2 วัน ระหว่างทางพักค้างคืนที่เมือง Keylong หรือเมือง Sarchu หรือเลือกแชร์รถมินิบัสโดยติดต่อกับบริษัททัวร์ท้องถิ่นในเมืองมนาลี ทางเลือกนี้ใช้เวลาเพียง 1 วัน นี่คือเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องออกเดินทางในเวลาที่ผู้คนยังคงหลับใหล

หลังจากผ่านด่านสุนัขฝูงใหญ่ไปได้แล้ว ตอนนั้นหายใจทั่วท้องโล่งอกอย่างบอกไม่ถูก แสงไฟดวงน้อยที่อยู่ไกลออกไปกลายเป็นที่พึ่ง เพื่อรอเวลานัดหมายในการเดินทางมุ่งสู่จุดหมายปลายทางข้างหน้า

ผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมงแสงไฟจากรถคันหนึ่งพุ่งตรงมาหา หลังจากโชว์ตั๋วที่จองไว้แล้วล่วงหน้าหนึ่งวัน สัมภาระถูกแบกขึ้นหลังคา ส่วนฉันนั่งอย่างสบายอารมณ์ แต่ยังไม่ทันพ้นจากตัวเมืองมนาลีสายฝนก็โปรยลงมา ขณะที่ความมืดมิดยังคงปกคลุมเส้นทาง เวลานั้นรู้สึกได้ว่ากำลังอยู่บนถนนที่คดเคี้ยว และสูงชันขึ้นเรื่อยๆ

ภายใต้เงามืดของหุบเหวด้านล่าง รถเริ่มโคลงเครงซ้ายทีขวาที เหมือนกำลังแล่นอยู่บนหลุมบ่อขรุขระ จนแล้วจนรอดสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อล้อรถด้านซ้ายตกไปในหลุมขนาดใหญ่ ก่อนจอดแน่นิ่ง...สนิท ทำเอารถตามหลังมาอีกหลายคันต้องติดยาวเหยียดบนภูสูง... นี่คงเป็นเวลานอน ฉันปลอบใจตัวเอง

เรารอจนถึงรุ่งเช้า เมื่อแสงตะวันเริ่มสาดท้องฟ้า โชเฟอร์ปลุกให้ทุกคนลงจากรถ เผชิญกับสภาพอากาศหนาวเหน็บที่รอคอยอยู่แล้วด้านนอก รวมถึงสายฝนที่ตกแบบไม่ปรานี ตอนนั้นฉันถึงกับตะลึงกับสภาพถนนตรงหน้า หัวใจที่เคยพองโต ตอนนี้เริ่มฝ่อเสียแล้ว

แต่อากาศสดใสยามเช้าตรู่บนความสูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และขุนเขาสูงที่กำลังคลอเคลียกับสายหมอกหนาเป็นอีกภาพหนึ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ช่วยคลี่คลายความกังวลให้ละลายหายไป ความพยายามในการออกเดินทางอีกครั้งของผู้คนที่ติดอยู่บนถนนสายนี้มากว่าสองสามชั่วโมง บัดนี้ประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากชายหนุ่มช่วยกันออกแรงผลัก...ดัน...ลาก จนรถต้นเหตุกลับมาติดเครื่องใหม่ได้อีกครั้ง

ผ่านพ้นถนนเฉอะแฉะ เละตุ้มเป๊ะมาได้ ความผ่องใสเบิกบานจึงกลับคืนมาอีกครั้ง ภูมิประเทศช่วงนี้เต็มไปด้วยสีเขียวของพืชพันธุ์ไม้ที่ปกคลุมยอดเขาสูง สลับกับยอดภูเขาน้ำแข็ง และเมฆหมอกที่ล่องลอยอยู่เกลื่อนท้องฟ้า เสมือนว่าจะเอื้อมมือถึง

ขณะนี้รถวิ่งขนานไปกับสายน้ำของแม่น้ำเบียส (Bears) ไต่ไปตามถนนที่คดโค้ง สูงชัน สลับกับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เบื้องล่างเป็นระยะๆ ที่นี่คือ หุบเขาคุลลูน (Kullu) บนเส้นทาง Hightway จากมนาลีสู่ลาดักห์ ถนนสายนี้มีระยะทาง 475 กิโลเมตร เส้นทางที่มีทั้งความสวยงาม น่าตื่นตะลึง เสมือนกำลังลอยอยู่บนท้องฟ้า แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่อันตรายที่สุดในโลก

นักเดินทางใจกล้า ผู้รักการผจญภัย พร้อมจักรยาน และมอเตอร์ไซค์คู่กาย ที่เห็นกำลังวิ่งโฉบเฉี่ยวอยู่บนถนนสายนี้ พวกเขาเหล่านั้น คงรู้ดีกว่าใครๆ

จากนั้นสายน้ำเริ่มแคบเล็กลงเรื่อยๆ จนเหลือให้เห็นเพียงขนาดของลำธาร โชคร้ายเราไม่มีโอกาสแวะพักเพื่อหาอะไรใส่กระเพาะสำหรับเช้านี้ เพราะโชเฟอร์มัวแต่ขับตะลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว อีกไม่นานเราก็มาถึงช่องเขา โรตัง ลา (Rohtang La) ความสูง 3,978 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ด่านแรกที่ต้องเผชิญ...เสมือนจะบอกว่า การเดินทางไกลเพิ่งจะเริ่มต้น



2.

เที่ยงแล้วแสงแดดแยงตา บวกกับอากาศแห้งของดินแดนแถบภูเขาสูง ค่อยๆ กลืนกินความสดชื่นจนหมดสิ้น แต่กลับส่งมอบความอ่อนเพลียเข้ามาทดแทน เวลานั้นเสียงพูดคุยค่อยๆ เงียบลง บัดนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ แล้ว ทุกคนนั่งหลับตานิ่ง แม้อยากจะหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพก็ลำบากเต็มที

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น... เมื่อคุณยายชาวบ้านเนปาลีซึ่งนั่งอยู่ตอนท้ายของรถเกิดอาการช็อก หมดสติ...แน่นิ่ง

เสียงเรียกของเด็กสาวชาวเนปาลีปลุกฉันให้มีสติขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อมารับรู้ว่าเพื่อนร่วมทางของเราเกิดอาการแพ้ความสูงเข้าแล้ว ภูมิประเทศที่เคยหยิบยื่นความสดชื่นจากสีเขียวของพืชพันธุ์ไม้ และสายน้ำที่เรียงรายสลับซับซ้อนตลอดเส้นทาง กลายเป็นภูเขาสีน้ำตาลสูงชัน ขณะนี้เรากำลังอยู่บนถนนที่ตัดวนไปเวียนมาจากเขาลูกนั้นไปสู่ลูกนี้ ไต่ระดับสูงขึ้นๆ เหมือนว่าจะไม่มีที่สิ้นสุด

ภูมิประเทศแบบนี้ก่อให้เกิดอาการแพ้ความสูงแบบเฉียบพลันได้ง่าย อาการนี้เรียกว่า Acute Mountain Sickness หรือ AMS และสถานการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

“เหตุการณ์ฉุกเฉิน หยุดๆ” เสียงของสาวเกาหลีตะโกนบอกโชเฟอร์ด้านหน้าให้หยุดรถ แต่รถยังคงพุ่งไปข้างหน้าเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น สักพักมีเสียงตะโกนกลับมาว่า “เราต้องรีบไปให้ถึงแคมป์ข้างหน้าให้เร็วที่สุด”

ร่างของคุณยายเนปาลีที่ไร้เรี่ยวแรง ล่วงลงสู่ตักของสามี กับลมหายใจที่รวยริน ตอนนี้เธอไม่ได้สติแล้ว หลานสาวตบที่แก้มเบาๆ เพื่อเรียกสติให้กลับคืนมา ขณะที่สามีซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เริ่มใจเสีย บรรยากาศในรถเริ่มโกลาหล เราช่วยกันปฐมพยาบาลเธอเท่าที่ทำได้ เธอฟื้นขึ้นมาแต่แล้วก็หมดสติไปอีก เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่กว่าชั่วโมง

บรรยากาศตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ หลานสาวเริ่มมีน้ำตาไหลอาบแก้ม ตอนนั้นเพิ่งเห็นกับตาว่าอาการแพ้ความสูงเฉียบพลัน มันน่ากลัวอย่างนี้นี่เอง

หญิงชราที่สภาพร่างกายไม่สามารถทนทานกับสภาวะที่มีออกซิเจนเบาบางในระดับความสูงที่ร่างกายของเธอเองก็ไม่เคยชิน ดูเหมือนการพยายามปฐมพยาบาลไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แม้เราจะผลัดกันนวดแขน นวดขา ทาน้ำมัน ระหว่างที่รถกำลังวิ่งไปอย่างรวดเร็ว

สักพักโชเฟอร์บอกว่า “ข้างหน้ามีแคมป์พักแรม พร้อมกับเต็นท์ขายอาหาร เธอต้องลงที่นี่ไม่สามารถไปต่อได้”

เราส่งเธอลงที่แคมป์พักแรมระหว่างทางกับครอบครัว 4 ชีวิต พร้อมกับช่วยแชร์เงินค่ารถในการเดินทางกลับไปพบแพทย์ที่เมืองมนาลี เพราะเส้นทางข้างหน้าบนถนนสายนี้ต้องผ่านช่องเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ...นี่เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น

ผ่านไปชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า บนภูมิประเทศที่เวิ้งว้างว่างเปล่า เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง แต่กลับสร้างความน่าอัศจรรย์ใจ บนถนนสายนี้ฉันได้เห็นทั้งภูเขาสูงเสียดฟ้า สัมผัสกับทะเลทรายร้อนระอุ สลับกับภาพของยอดเขาหิมะที่ตั้งตระหง่านในมุมมองที่ไกลสุดตา

จาก“โรตัง ลา” เราวิ่งผ่านเมือง Kaylong ไปสู่ช่องเขาสูงอีกแห่งคือ “บาราลาชา ลา” (Baralacha La) ความสูง 4,892 เมตรจากระดับน้ำทะเล จนผ่านหมู่บ้านชาร์ชู (Sarchu) จุดแวะพักค้างแรมสำหรับผู้ที่เดินทางซึ่งใช้เวลา 2 วัน วันนั้นหากได้นอนพักก็คงดี แต่เราต้องไปต่อแบบไม่มีโอกาสได้หยุดเพื่อแข่งกับเข็มนาฬิกา



3.

ยามนี้แสงสีทองเริ่มสาดสู่ท้องฟ้าเบื้องบน แต่ร่างกายกลับอ่อนล้า แม้แต่จะลืมตาเพื่อมองให้เห็นความงามของธรรมชาติที่ถูกสรรค์สร้างอย่างน่าพิศวงยังเป็นเรื่องยากเย็น เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดหัวอย่างแรง ลมหายใจรวยริน พลังงานในการดำรงชีวิตหายไปเกือบหมดแล้ว ตอนนั้นอ่อนล้าจนแทบขาดใจ

ฉันอมกระเทียมไว้ที่ใต้ลิ้น เพื่อช่วยเก็บออกซิเจน ตามคำแนะนำของโชเฟอร์ ผู้ช่ำชองบนถนนสายนี้ นี่เป็นความรู้ใหม่ที่ไม่รู้เหมือนกันว่ามีเหตุผลทางการแพทย์รองรับหรือเปล่า แต่อย่างน้อยมันทำให้อาการปั่นป่วนภายในคลายลงได้บ้าง

ความมืดกลับมาปกคลุมเส้นทางอีกครั้ง ขณะที่รถกำลังไต่ไปสู่ช่องเขาสูงอีกแห่งคือ “ลาชูลุง ลา” (Lachulung La) ความสูง 5,059 เมตรจากระดับน้ำทะเล ฉันเคลิ้มเหมือนมีอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น สติรับรู้ลดลง เหนื่อยแม้กระทั่งหายใจ บนระดับความสูงที่สุดบนถนนสายนี้คือ “ทังลัง ลา” (Tanglang La) ความสูง 5,359 เมตรจากระดับน้ำทะเล ช่องเขาที่ได้ชื่อว่าสูงเป็นอันดับสองในแคว้นลาดักห์ ฉันไม่เหลือเรี่ยวแรงอยู่เลย

หลับไปด้วยความทรมานภายใต้ความมืดอันยาวนาน ก่อนจะถูกปลุกอีกครั้งเมื่อรถแล่นมาถึงจุดตรวจหนังสือเดินทาง และแจ้งชื่อเพื่อรายงานตัวก่อนเข้าสู่เมืองเลห์ เมืองหลวงของแคว้นลาดักห์ แสงไฟสลัวส่องให้เห็นป้ายเขียนว่า หมู่บ้านอัปชิ (Upshi) จากจุดนี้อีกเกือบ 50 กิโลเมตรจะถึงจุดหมายปลายทางข้างหน้า

ตอนนั้นเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ร้อนๆ หนาวๆ น้ำมูกไหล ปวดหัวแทบแตก เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันเพียงชั่วข้ามคืน การก้าวเท้าแต่ละก้าวเป็นไปด้วยความยากลำบาก หลังจากกลับมาขึ้นรถอีกครั้ง ฉันก็ล่วงผล็อยลงที่เบาะ

นานเท่าไหร่ไม่รู้ แต่เมื่อได้ยินคำว่า “เลห์” ฉันดีใจสุดขีด แสงไฟดวงเล็กตลอดเส้นทางทำให้พอมองเห็น เมืองเลห์ แบบรางเลือน....คืนนี้ฉันยังมีชีวิตอยู่

การเดินทางแสนทรหดเพียงแค่ 1 วัน นำพาฉันให้ได้พบเจอกับภูมิประเทศที่หลากหลาย สัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่าง คละเคล้าทั้งทุกข์และสุข เพื่อนมนุษย์และน้ำใจ

คืนนั้นไม่มีใครดูนาฬิกา โฮมสเตย์หลังน้อยในย่านจางสปา (Changspa) ช่วยให้ฉันผ่านค่ำคืนนั้นไปได้อย่างอบอุ่น แม้ว่าที่นอนจะเป็นเพียงเก้าอี้นั่งตัวยาวที่รองด้วยเบาะนิ่มๆ ภายในห้องรับแขกของบ้าน เพราะเวลานี้ดึกดื่นเกินกว่าจะออกตระเวนหาห้องพัก

วันรุ่งขึ้นฉันตื่นขึ้นมาเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็นภายในตัวเมืองเลห์ เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง ยอดเขาหิมะโผล่มาทักทาย พร้อมกับภาพของ เจดีย์สันติภาพ (Shanti Stupa) เจดีย์สีขาวขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงโดดเด่น กลายเป็นจุดชมวิวของเมืองเลห์ที่มองเห็นได้รอบทิศทาง

เจดีย์นี้ชาวลาดักห์เรียกว่า สานติ โชว์เตน ตั้งอยู่ในย่านจางสปา ถนนสายเล็กๆ ที่เรียงรายได้ด้วยบ้านเรือนและร้านค้า สงบร่มรื่นกว่าย่านนักท่องเที่ยวใจกลางเมืองเลห์

เจดีย์สันติภาพสร้างขึ้นโดยองค์กรพุทธศาสนาแห่งญี่ปุ่น เมื่อปีค.ศ.1985 เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนทั้งโลกร่วมมือร่วมใจกันสร้างสันติภาพขึ้นมา นี่คือที่หมายของฉันในวันถัดไป

วันนี้ขอบคุณที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสศรัทธาอันแรงกล้าของชาวลาดักห์... จูเล


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วันที่ก้าวข้าม Trans-Himalayan

view