สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางรอด ข้าวหอมมะลิไทย บนการแข่งขันราคา

ทางรอด'ข้าวหอมมะลิไทย'บนการแข่งขันราคา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข้าวหอมมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของประเทศ

อีกทั้งยังคงมีความต้องการสูง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ปัญหาส่วนใหญ่พบว่ามีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทำให้การส่งออกข้าวหอมมะลิจากอดีตมาถึงปัจจุบันเริ่มทรงตัว รวมถึงราคาขายเริ่มตกต่ำ ขณะที่ปัจจุบันต่างประเทศ อย่างประเทศเวียดนาม ลาว พม่า และจีน กำลังกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เพราะมีกำลังการผลิตข้าวหอมมะลิแบบก้าวกระโดด จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าอนาคต “ข้าวหอมมะลิ”ของไทยที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของเราจะอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับชมรมนิสิตเก่าเทคโนโลยีทางอาหาร ถึงความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิไทย ในภาวะการแข่งขันด้านราคา และการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยเน้นการพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ ให้ได้คุณภาพดี ผลผลิตสูงและต้นทุนต่ำ รวมถึงการหากลยุทธ์ทางการตลาดที่จะสามารถส่งเสริมให้ข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพสามารถไปแข่งขันกับต่างประเทศได้

ทั้งนี้จากสถิติข้าวหอมมะลิไทย ถือเป็นสินค้าส่งออกระดับต้นๆ นับตั้งแต่ปี 2545 - 2555 ในระยะเวลา 10 ปี พบว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวหอมมะลิไทยลดลงถึง 50% จาก 80-90% เนื่องจากต่างประเทศอย่างเวียดนามได้ตีตลาดข้าวหอมมะลิไทย โดยมีการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงเพียง 2 ปี ส่วนแบ่งทางการตลาดมีสูงถึง 30% โดยส่งปีแรก 4,000 ตัน ปีที่สองเพิ่มเป็น 70,000 ตัน และปีนี้คาดว่าน่าจะส่งออกมากกว่า 100,000 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาขายที่แตกต่างกันมาก ซึ่งเวียดนามขายข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 700 เหรียญต่อตัน ส่วนประเทศไทยขายอยู่ที่ 1,000 -1,200 เหรียญต่อตัน ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่ผู้บริโภคต้องเลือกราคาที่ถูกกว่าและคุณภาพเกือบใกล้เคียงกัน

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ซีพี อินเตอร์เทรด จำกัด แนะว่า ทางรอดของความยั่งยืนข้าวหอมมะลิไทยมองได้ 2 ส่วนคือ 1. ส่วนของโครงสร้างการผลิต 2. ส่วนโครงสร้างการตลาด โดยโครงสร้างการผลิต หากมองภาพรวมของพื้นที่เกษตรกรรมขณะนี้มี 130 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 55 - 60 ล้านไร่ โดยในแต่ละปี พื้นที่การปลูกข้าวเริ่มลดน้อยลง เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืชพลังงานมากขึ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูงกว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายรับจำนำข้าวแต่คุณภาพข้าวของเกษตรกรยังไม่ได้ตามที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่พื้นที่ภาคอีสานมีการส่งเสริมการปลูกยางพารา ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิมีโอกาสลดน้อยลงจากเดิม โดยครึ่งหนึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นการปลูกข้าวเหนียว

เขาบอกอีกว่า ประเทศไทยเป็นระบบไมโครฟาร์มมิ่ง หรือเป็นระบบครอบครัวชาวนา โดยเฉลี่ยแล้วชาวนาปลูกข้าวครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ แต่เป็นแบบต่างคนต่างทำ ไม่มีการรวมกลุ่ม ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นแต่การเกษตร ไม่มุ่งเน้นงานด้านสหกรณ์ทำให้ชาวนาไทยต้องเป็นระบบไมโครฟาร์มมิ่ง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและหลายประเทศในยุโรปมีการรวมกลุ่มสหกรณ์ข้าว เมื่อมารวมกลุ่มกันก็สามารถทำให้ระบบการเพาะปลูกข้าวดีขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีร่วมกันสามารถแข่งขันด้านคุณภาพและเรื่องราคาขายได้ ดังนั้น ต้องย้อนกลับมามองว่าชาวนาไทยจะแข่งขันกับเพื่อนบ้านโดยลำพังได้อย่างไร

“ปัจจุบันปัญหาของชาวนาไทย ต้องเช่าพื้นที่ทำนา ทำให้ไม่มีการปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงดิน เพราะไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะทำนาแบบผ่านๆ ไม่มีการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ หรือลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตมากนัก ขณะที่ที่ดินจำนวนมากถูกถือครองโดยนักค้าที่ดิน แต่กลับปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ทำให้ที่ดินไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลต้องมีกลไกว่า ทำอย่างไรจะนำที่ดินเหล่านั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศได้” นายสุเมธ กล่าว

เขาบอกอีกว่าขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรใหม่ อย่ามองแค่เรื่องข้าวหอมมะลิอย่างเดียวเพราะปัจจุบันนี้ภาคพลังงานของเราก็ขาดแคลนมาก ต้องนำเข้าน้ำมันดิบและภาคแรงงานด้านเกษตรก็ลดลง เพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากเป็นชาวนา ส่วนโครงสร้างการตลาดข้าวหอมมะลิ ขณะนี้ประเทศไทยมีคู่แข่งมาก อย่างเวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว ต่างก็ปลูกข้าวหอมมะลิ หากเราจะแข่งขันให้ชนะได้ อยู่ที่ว่าใครจะรักษาความเป็นอัตลักษณ์ได้มากกว่ากัน ใครจะครองคุณภาพได้มากกว่ากัน

“ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก วันนี้เราส่งออกไปปีละ 2 ล้านตัน ถ้าเราหารเฉลี่ยการบริโภคต่อคนต่อปี ทั่วโลกบริโภคข้าวหอมมะลินิดเดียว นอกนั้นกินข้าวขาวธรรมดา แต่ถ้าเราจะให้ข้าวหอมมะลิอยู่ได้ สามารถเติบโตได้ เราจะทำอย่างไรให้คนต่างชาติหันมาบริโภคข้าวมากขึ้น เราต้องทำอย่างจริงจัง เพราะขนาดคนไทยยังบริโภคสปาเกตตี และบริโภคแฮมเบอเกอร์ ทำไมเราถึงบริโภคได้ ถ้าจะทำให้ข้าวหอมมะลิอยู่ได้ เราต้องทำการตลาดอย่างจริงจัง” นายสุเมธกล่าว

ขณะที่ นายเชาว์วัช หนูทอง ประธานเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานีหรือ ปราชญ์เดินดิน ชาวอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เล่าว่าวิธีการทำนาให้ได้ผลผลิตดีมีหลากหลายวิธี โดยทำอย่างไรให้ลงทุนต่ำ แต่ผลผลิตต้องเพิ่ม ซึ่งเขาใช้วิธีการทำนาแบบเกษตรอินทรีเพื่อยกระดับราคาข้าวหอมมะลิได้ โดยวิธีที่เขาใช้ คือการโยนกล้า ซึ่งต้องมีการเตรียมเพาะกล้าข้าวในถาดหลุม10-15วัน จากนั้นนำกล้าข้าวไปโยนในพื้นที่ที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นค่อยปล่อยน้ำลงสู่ที่นาซึ่งพื้นที่ทำนาต้องมีแหล่งน้ำ หรืออยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อสะดวกต่อการควบคุมน้ำในแปลงนา ซึ่งวิธีนี้สามารถสร้างผลผลิต 2-5 ตันต่อไร่ จากการโยนต้นกล้า 5 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ยังมีเทคนิคเพิ่มความหอมและนุ่มเหนียวของเมล็ดข้าวที่เรียกว่า “การเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” ก็ให้เปียกบ้างแห้งบ้างข้าวจะแตกกอได้มาก และใช้แหนแดงมาปกคลุมพื้นดินเพื่อลดวัชพืชแทนการใช้สารเคมี

“ผมใช้ข้าวแค่ 2 ขีดต่อไร่ แต่ละต้นก็จะแตกตอมากกว่า 100 -150 ต้น ได้ผลผลิตกอละครึ่งกิโลกรัม ปลูกห่างกัน 40 x 40 เซนติเมตร ได้ประมาณ 40,000 กอต่อไร่ และควรมีการปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง เมื่อทำได้อย่างนี้เราก็สามารถแข่งกันประเทศอื่นได้ ข้าวเป็นพืชที่ทนน้ำ ถ้าพื้นแห้งข้าวก็จะแตกกอความยั่งยืนของข้าวหอมมะลิไทยควรเริ่มจากการผลิต ที่มีต้นทุนการผลผลิตต่ำ รักษาสภาพแวดล้อม ลดเลิกสารเคมี พัฒนาเปลี่ยนขายจากเกวียนเป็นกรัม” นายเชาว์วัช กล่าว

ส่วนนายบรรเทา เกตุอูม เกษตรกรดีเด่น บ้านหัวนาคำใต้ ตำบลกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ บอกว่า ตนทำนาปลูกพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยที่ได้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ยสูงสุดถึง 1ตันต่อไร่ ซึ่งใช้งบประมาณต้นทุนเพียง1,005 บาท โดยการวางแผนฟื้นฟูหน้าดินหลังการเก็บเกี่ยวพันธุ์ข้าว และเมื่อถึงเดือนมิถุนายนหรือช่วงฤดูกาลทำนาที่หวังพึ่งน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลักก็เริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากศูนย์วิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากนั้น เพื่อผลผลิตที่ดีจึงต้องพ่นน้ำหมักที่ได้จากมูลสัตว์ที่เลี้ยง และนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเรียกว่าการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ชีวภาพนั่นเอง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ทางรอด ข้าวหอมมะลิไทย การแข่งขันราคา

view