สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตัว(สร้าง)เงิน ตัว(สร้าง)ทอง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แม้จะไม่ใช่ผู้นำในการส่งออกเครื่องหนังอย่างจีนหรืออินเดียแต่จะดีสักแค่ไหนถ้าไทยพลิกเกม

มาเป็นผู้นำด้านการส่งออกหนังสัตว์ชนิดหนึ่งที่ตลาดโลกอาจคาดไม่ถึง

เมื่อปีที่ผ่านมา สถานการณ์การส่งออกสินค้าหลายรายการของไทยสู่ตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นอันต้องชะงักลงไป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มแฟชั่นเครื่องหนังและเครื่องแต่งกายที่มีออเดอร์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุของปรากฏการณ์นี้นักวิชากากรไทยหลายท่านออกมาให้ข้อมูลว่าอาจเป็นเพราะในแถบยุโรปยังคงได้รับผลกระทบจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนสหรัฐฯ เองก็ประสบกับภัยธรรมชาติ(พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้) ครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จึงส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มตลาดดังกล่าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สอดคล้องกับข้อมูลการจัด 10 อันดับธุรกิจดาวเด่น-ดาวร่วงปี 2556 ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจพบว่ากลุ่มธุรกิจที่อาจกลายเป็น 'ดาวร่วง' นั้นมีชื่อของธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหนัง ติดโผมาเป็นที่ 3 และ 4 ตามลำดับ จากทั้งหมด 10 อันดับ แต่อย่างไรก็ตามความหวังในเส้นทางของธุรกิจแฟชั่นเครื่องหนังก็ไม่ได้มอดดับไปเสียทีเดียว

เครื่องหนังไทยในตลาดโลก

ไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดงาน Thai Leather Week : Bag and the City 2012 ขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ภายในงานมีทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคตบเท้ามาร่วมงานอย่างคึกคัก ในระยะเวลาการจัดงานเพียง 10 วัน สามารถทำยอดขายให้สินค้าเครื่องหนังแบรนด์ดังของไทยคุณภาพมาตรฐานการส่งออกทั้งเอเลแกนซ่า, เดวี, จิออร์จิน่า ,เซนต์ เจมส์, มีอา, ศรีราชา โมดา และ โบลิตี้ รวมๆ แล้วทะลุถึง 30 ล้านบาท ฉุดกระแสความนิยมของสินค้าเครื่องหนังให้พุ่งขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีท่าทีว่าซบเซาลงไป และแล้วเทรนของเครื่องหนังก็กลับมาทวงบัลลังก์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วลากยาวมาจนถึงต้นปีนี้

ก่อนหน้านี้ ร.อ.สุวิพันธุ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เคยกล่าวถึงสถานการณ์เครื่องหนังของไทยต่อสื่อหลายสำนักว่า แม้ว่าช่วงกลางปีที่แล้วตลาดเครื่องหนังไทยจะซบเซาไปบ้าง แต่อุตสาหกรรมเครื่องหนังของไทยก็สามารถสร้างรายได้จากการส่งออก เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยปีที่แล้วได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าเครื่องหนังให้มีมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 2 ซึ่งทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ทำงานร่วมกับสมาคมเครื่องหนังไทยอย่างใกล้ชิด โดยจะร่วมกันผลักดันธุรกิจเครื่องหนังไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล

ส่วนในปี 2556 นี้จะมุ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการจัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าเครื่องหนังไปเจรจาการค้าในกลุ่มประเทศเป้าหมาย มุ่งเปิดตลาดใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างแบรนด์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศมาให้คำแนะนำ และยังให้ความเห็นว่างานไทยเลเธอร์วีก 2012 ที่ผ่านไปนั้นจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศช่วงปีใหม่ได้ไม่น้อย เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายซื้อของขวัญกันจำนวนมาก และความคึกคักในงานน่าจะเป็นอีกแรงที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำทางการค้าและบริการด้านเครื่องหนังไทย

มองดูแล้วสถานการณ์ของสินค้าประเภทแฟชั่นเครื่องหนังไทยก็ไม่ได้เลวร้ายมากนัก แต่ในอนาคตหากปล่อยให้ยังคงสถานะนิ่งๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่ดีแน่ ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยสามารถปรับตัวและหาสินค้าเครื่องหนังที่โดดเด่นกว่าเจ้าอื่นๆ ในตลาดโลกได้ หนทางสู่การเป็นผู้นำด้านเครื่องหนังของไทยก็น่าจะสดใสกว่าที่เคย

คำถามคือ หนังที่ว่าควรจะเป็นหนังอะไรจึงจะมีลวดลายที่สวยงาม โดดเด่น และที่สำคัญต้องมีมูลค่าสูงคุ้มค่ากับการลงทุนและการบุกตลาดโลก ส่วนคำตอบนั้นออกจะเชื่อยากสักหน่อยแต่ยืนยันได้ว่ามีอยู่จริง เพราะหนังสัตว์ที่ว่าก็คือหนังของตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวเหี้ย หรืออีกชื่อในวงการวิชาการก็คือ ตัววารานัส นั่นเอง

ฟาร์มทดลองเหี้ย

“เหี้ย” หรือ “Water monitor” หรือ “Varanus salvator”(ชื่อทางวิทยาศาสตร์) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเจอได้ง่าย บ้างก็เห็นอาศัยอยู่ตามลำคลองใกล้บ้านเรือนคน บ้างก็เห็นอยู่ตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งพอผู้คนเห็นตัวเหี้ยก็จะออกอาการไม่ปลื้มไปตามๆ กัน อาจเพราะในสังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับชื่อของมัน รวมถึงคนไทย(นับแต่โบราณ)มักเอาคำว่า "เหี้ย" มาใช้ด่าทอกันเองจนชินปาก แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ตัวเงินตัวทอง” หรือ "วารานัส" แล้วก็ตาม หลายคนก็ยังคงรู้สึกไม่ดีกับตัวเหี้ยอยู่เช่นเดิม

แต่ต่อไปนี้คนไทยอาจจะมองสัตว์ชนิดนี้ในมุมใหม่ เพราะตัวเงินตัวทองกำลังจะกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญตัวต่อไปของเมืองไทย ทั้งเนื้อและหนังของมันมีราคาแพงและเป็นนิยมในอุตสาหกรรมเครื่องหนังของยุโรป และมีข้อมูลว่าประเทศอิตาลีเป็นตลาดที่มีการค้าขายและนำเข้าตัวเงินตัวทองมากถึงปีละ 1 ล้านตัวสำหรับธุรกิจเครื่องหนัง

ประเทศไทยเองก็มองเห็นโอกาสในการทำตลาดเครื่องหนังของตัวเงินตัวทองจึงมีการศึกษาวิจัยเรื่อยมา โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์เป็นหัวเรือใหญ่ในการก่อตั้งโครงการ "การศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์ตัววารานัส (Varanus salvator) เพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ" ขึ้น ในการทำโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ม.เกษตรศาสตร์ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ออกหนังสืออนุญาต ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 ให้โครงการศึกษานี้ดำเนินการได้ และทำการเปิด “ฟาร์มวารานัส” แห่งแรกในไทยขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2554

"ตอนนี้เรายังไม่สามารถล่าหรือจำหน่ายตัวเงินตัวทองที่อยู่ตามธรรมชาติได้ เพราะมันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 และยังติดอยู่กับข้อตกลงอนุสัญญาไซเตส(CITES) หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ทีนี้ทางม.เกษตร เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมา พอศึกษาวิจัยจนได้ข้อมูลที่ครบถ้วนแล้ว(อาจใช้เวลา 4-5 ปี) จึงจะนำผลวิจัยนี้ไปขออนุญาตหรือขอLicense ในการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้จากไซเตสให้ไทยสามารถเพาะเลี้ยงได้" อาจารย์สมโภชน์ ทับเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เล่าถึงฟาร์มทดลองเลี้ยงตัวเงินตัวทองของม.เกษตร

การเก็บข้อมูลนั้น ต้องศึกษาทั้งในเรื่องลักษณะนิสัย เมื่อทดลองเลี้ยงในบ่อปูนแล้วเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินและชีวิตการเป็นอยู่ตามสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปด้วย เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่โครงการที่จะผสมพันธุ์ให้ได้ลูกตัวเงินตัวทองจากการเลี้ยงในระบบฟาร์ม เมื่อได้มาแล้วก็ต้องฝังไมโครชิปติดตามตัว และมีการรันนัมเบอร์ของทุกตัวขึ้นในระบบ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตหากสามารถขอ License ในการเลี้ยงได้สำเร็จ ไทยอาจจะเป็นผู้นำในการส่งออกหนังของตัวเงินตัวทองที่มีคุณภาพได้ แต่ในการที่จะได้License มา ต้องเป็นการขอเลี้ยงในฟาร์มเป็นการเฉพาะเท่านั้น คือ ต้องเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี เมื่อเลี้ยงจนสามารถจำหน่ายหนังได้ก็จะต้องมีเอกสารยืนยันว่าสินค้านี้เกิดจากการเพาะพันธุ์เองไม่ได้ล่าเอาจากธรรมชาติ

"หนังตัววารานัสมีราคาสูงน่าจะเทียบเท่าหนังจระเข้ เพราะเป็นหนังที่มีคุณภาพ เป็นหนังที่เหนียวมากทำให้บางได้โดยไม่ขาด มีลวดลายที่สวยยงาม สามารถใช้หนังได้ทั้งตัว อีกทั้งเมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นต่างๆ ก็จะมีความเบา แต่หนังจระเข้สามารถใช้ได้เฉพาะส่วนท้องเท่านั้น และมีน้ำหนักมากกว่า อีกอย่างคือหนังวารานัสมีเอกลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากลวดลายของหนังวารานัสแต่ละตัวจะมีลายที่ไม่ซ้ำกันแม้แต่ตัวเดียว เพราะฉะนั้นสินค้าตัวนี้ถ้าทำขึ้นมาได้มันจะเป็นยูนีค มีชิ้นเดียวในโลก ทำให้มันมีมูลค่าสูง"

หนังดั่งทอง

ในอดีตหนังจระเข้เพียง 1 เซนติเมตร มีราคาถึง 160 บาท แต่หนังตัววารานัส 1 นิ้ว มีราคาเพียง 60 บาทเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ราคาหนังจระเข้ทะยานขึ้นสูงลิ่ว หากนำมาผลิตเป็นกระเป๋าไซส์ใหญ่มีราคาเริ่มต้นที่ประมาณแสนบาท ส่วนไซส์เล็กแบบกระเป๋าผู้หญิงราคาอยู่ที่ประมาณ 60,000 - 70,000 บาท ส่วนราคาที่ถูกที่สุดคือกระเป๋าสตางค์ผู้หญิงราคาเริ่มต้นใบละ 12,900 บาท (ข้อมูลจากแบรนด์ S'uvimol bangkok) ในขณะที่หนังตัววรานัสหากได้จากการเลี้ยงในฟาร์มอย่างดีจนสามารถผลิตหนังได้ในระดับเกรดเอ จะสามารถนำมาทำกระเป๋าได้ในราคาเริ่มต้นใบละสามแสนบาท เทียบเท่าทองคำแท่งประมาณ 12 แท่งเลยทีเดียว (ทองคำแท่งบาทละ 24,200 บาทโดยประมาณ)

ดังนั้นการศึกษาวิจัยเพื่อเลี้ยงวารานัสในระบบฟาร์มจึงกลายเป็นอีกหนึ่งความหวังของเกษตรกรไทย และในระยะยาวก็เป็นความหวังของผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกสินค้าเครื่องหนังด้วย

"หากวันนั้นมาถึง การทำฟาร์มนี้จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรไทยอย่างมาก ข้อแรกคือ มันมีตลาดรองรับสินค้านี้อยู่แล้วแน่นอน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หากหนังที่ได้อยู่ในเกรดเออาจจะสามารถขายได้ในราคาสูง แต่ในที่นี้มันก็เหมือนการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั่วๆ ไป มันมีหลายปัจจัย ถ้าคุณดูแลไม่ดีหนังที่ได้ก็มีคุณภาพต่ำ แต่คิดว่าการทำฟาร์มที่เรามีตลาดรออยู่และมีส่วนแบ่งในตลาดน้อยที่สุดในโลกจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถครองตลาดได้นานกว่าใครเพื่อน เพราะว่าเราไม่มีคู่แข่งไงครับ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่เรามีคู่แข่งในโลกไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา หรือปาล์มน้ำมัน พวกนี้เรามีคู่แข่งในตลาดโลกทั้งนั้น ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม จีน ฯลฯ เรามีคู่แข่งเยอะแยะ แต่ถ้ามาทำฟาร์มวารานัสคู่แข่งคุณจะไม่มี มันเป็นข้อได้เปรียบ เป็นโอกาสที่เราจะก้าวไปสู่อาชีพใหทม่ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าการทำเกษตรในด้านอื่นๆ" อาจารย์สมโภชน์บอก

. . .

แม้วันนี้การทำฟาร์มตัววารานัสจะยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาทดลอง และยังกำหนดไม่ได้ว่าการขอLicense ในการเลี้ยงวารานัสจากไซเตสนั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นได้เมื่อไหร่ แต่อาจารย์สมโภชน์เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธกระบวนการนี้ เพราะการที่นำตัววารานัสมาเลี้ยงในระบบปิดนอกจากจะเป็นการจำกัดขอบเขตของมันไม่ให้มันออกไปคาบกินสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ของเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นได้

"ผมคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทางกรมป่าไม้เองก็คงเล็งเห็นความสำคัญในการใช้ประโยชน์ของตัววารานัสที่มันมีอยู่มากมายในประเทศไทย ถ้าเราร่วมกันทำได้เราจะเป็นเจ้าแรกในโลกที่ได้License นี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการดึงเม็ดเงินให้เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนจะได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน เราก็ต้องพยายามติดตามผลให้ต่อเนื่อง ทางม.เกษตรเองก็เห็นว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์เศษฐกิจที่จะมีค่ามากในอนาคตอันใกล้ เป็นสิ่งดีๆที่เราสามารถจะทำได้เพื่อส่งโอกาสนี้สู่เกษตรกรไทย"

ไม่แน่ ตัวเงินตัวทองที่วันนี้ถูกหลายคนรังเกียจ ในวันหน้าอาจพลิกบทบาทกลายเป็นตัวสร้างเงินสร้างทองให้แก่ประเทศไทยได้อย่างมหาศาล


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ตัวเงินตัวทอง

view