สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยิ่งสูง...ยิ่งหนาว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อาจเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆในแต่ละปี แต่ลมหนาวที่มาพร้อมกับบรรยากาศแห่งความเบิกบานก็ชวนให้หลายคนออกเดินทาง

ปีใหม่นี้ 'เสาร์สวัสดี' ขอมอบเส้นทางแห่งความสุขที่ทั้งสูงและหนาว

กอดฟ้าห่มดิน "อินทนนท์"

ดูเหมือนจะเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศไปแล้ว สำหรับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเมื่อลมหนาวพัดผ่านมาทีไร ประชาชนคนไทยก็มักจะคิดถึงยอดภูที่สูงที่สุดในประเทศอย่างดอยอินทนนท์ทุกที

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีพื้นที่ทั้งหมดราว 301,500 ไร่ ครอบคลุมอำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มี "ดอยอินทนนท์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย พาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565 เมตร ซึ่งป่าอินทนนท์นี้เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่กลาง แม่ป่าก่อ แม่ปอน แม่หอย แม่ยะ แม่แจ่ม แม่ขาน และเป็นส่วนหนึ่งของต้นน้ำแม่ปิงที่ให้พลังงานไฟฟ้าในเขื่อนภูมิพล

เดิมทีดอยอินทนนท์มีชื่อว่า "ดอยหลวงอ่างกา" แต่ต่อมาได้ตั้งชื่อตามพระนามของพระเจ้าอินทวิชยนนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 จึงใช้ชื่อ "ดอยอินทนนท์" มาจนถึงทุกวันนี้

เสน่ห์ของดอยอินทนนท์อยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เพราะที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และเป็นจุดสูงสุดของเทือกเขาถนนธงชัย ทำให้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ในป่าแห่งนี้มีความหลากหลาย กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวมาแล้วจะพลาดไม่ได้นั่นก็คือ การเดินทางมาสัมผัสความหนาวเย็นท่ามกลางผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และหากโชคดีในวันที่อุณหภูมิเหมาะสมก็อาจจะได้พบกับปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งบนยอดหญ้า หรือที่หลายคนเรียกว่า "แม่คะนิ้ง" ก็ได้

ส่วนไฮไลท์ของคนชอบเที่ยวป่าเขาลำเนาไพรคงหนีไม่พ้นการเดินทางเข้าไปรู้จักผืนป่าผ่านห้องเรียนธรรมชาติ 2 แห่ง นั่นก็คือ "เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาหลวง" และ "เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน"

"อ่างกา" เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่อยู่บริเวณปากทางขึ้นยอดดอย ซึ่งเปรียบเสมือนปากประตูสู่หิมาลัย ระยะทางราว 300 เมตร ใช้เวลาเดินไม่นานนัก โดยสามารถเดินไปบนสะพานไม้ที่ทอดยาวสู่ใจกลางผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ และจะมีป้ายสื่อความหมายธรรมชาติตลอดเส้นทาง ความโดดเด่นของอ่างกาอยู่ที่บริเวณน้ำท่วมขัง ซึ่งนับเป็นพรุน้ำจืดบนระดับความสูงที่สุดในประเทศ ก่อให้เกิดลักษณะทางนิเวศวิทยาอันน่าทึ่ง บนเส้นทางตามพื้นดินจะพบข้าวตอกฤๅษี มอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

เมื่อทดสอบกำลังด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาไปแล้วแต่ยังไม่จุใจ นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาที่เหลือกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานต่อได้ เพราะระยะทางเดินจะมากกว่าอ่างกา 10 เท่า คืออยู่ราว 3 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้จะอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 42 ของเส้นทางสู่ยอดดอย

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน สามารถเดินเป็นวงรอบและไปกลับในวันเดียวได้ การเดินทางจะผ่านป่าและภูมิประเทศที่หลากหลาย ซึ่งระหว่างทางจะมีจุดพักให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ธรรมชาติทั้งหมด 21 จุด เริ่มต้นการเดินช่วงแรกจะเป็นป่าดิบชื้น มีมอสและเฟิร์นขึ้นอยู่หนาแน่นตามลำต้นของต้นไม้ บ้างก็มีฝอยลมห้อยระย้าลงมา ช่วงหน้าฝนป่าแห่งนี้จะถูกปกคลุมด้วยหมอกขาวและอากาศที่หนาวเย็น เมื่อเดินไปจนสุดปลายทางจะพบทุ่งหญ้าบนเนินที่ดารดาษด้วยดอกไม้ตามพื้น เช่น หนาดเขาสีขาวเป็นตุ่มๆ ส้มแปะ และดอกไม้ป่าสีเหลือง ม่วง ขาว อีกหลายชนิด เช่น บัวทองอินทนนท์ ไวโอเล็ต เป็นต้น

สภาพอากาศบริเวณนี้ค่อนข้างหนาวเย็นและมีลมแรงมาก แต่จะมากขึ้นเมื่อเดินไปถึงจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นภาพกว้างของดอยอินทนนท์ได้ ซึ่งบริเวณนี้ในฤดูหนาวจะปกคลุมไปด้วยหมอกเมฆพลิ้วไหวผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา จากนั้นจึงผ่านเข้าสู่ดงกุหลาบพันปี ที่เป็นพืชพรรณเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ หากโชคดีก็อาจจะได้พบกับ "ม้าเทวดา" หรือกวางผา สัตว์ป่าสงวนใกล้สูญพันธุ์ที่มีข่าวว่าพบเห็นกันที่บริเวณนี้หลายครั้ง แล้วกลับเข้าสู่ป่าดิบเขาก่อนจะจบเส้นทาง

นอกจากจะเป็นปลายทางของคนรักการเดินป่าระยะสั้นแล้ว ดอยอินทนนท์ยังเป็นสวรรค์ของคนที่รักการดูนกด้วย เพราะที่นี่มีนกให้ดูตลอดทั้งปี ยิ่งหน้าหนาวแบบนี้พกกล้องดีๆ มาสักตัว รับรองว่าได้ภาพนกกลับบ้านไปอวดเพื่อนๆ เพียบ

....................................
ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. 0 5381 8348

'เชียงดาว' พราวเสน่ห์

แม้จะถูกจัดอันดับความสูงให้อยู่ในระดับ 3 ของประเทศ รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก แต่ในหมู่ภูเขาหินปูนด้วยกันแล้วไม่มีเขาลูกใดสูงทัดเทียม "ดอยหลวงเชียงดาว" จังหวัดเชียงใหม่ ได้

ดอยหลวงเชียงดาว เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดจากการทับถมของซากสัตว์ต่างๆ ใต้ท้องทะเลจนมีสภาพแข็งเป็นหิน เมื่อเปลือกโลกมีการเคลื่อนไหว หินปูนใต้ทะเลจึงถูกดันขึ้นมาอย่างเฉียบพลันกลายเป็นภูเขา ซึ่งอยู่ในยุคเพอร์เมียน ตอนปลายของมหายุคพาลีโอโซอิค หรือราว 230-280 ล้านปีมาแล้ว

ลักษณะเด่นของดอยหลวงเชียงดาวคือเป็นภูเขาที่มีสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ขนาดใหญ่ โดยมีพันธุ์ไม้ขึ้นสลับฤดูกันเกือบ 2,000 ชนิด ที่เป็นพันธุ์ไม้ประจำถิ่นพบเฉพาะบนดอยหลวงเชียงดาว ก็มีไม่น้อยกว่า 200 ชนิด และเป็นพันธุ์ไม้หายากอีกเกือบ 450 ชนิด แต่กว่านักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมพันธุ์ไม้ที่สวยงามต่างๆ เหล่านั้น ต้องผ่านขั้นตอนของการเดินทางที่แสนหฤโหดเสียก่อน

ระหว่างการเดินทางนักท่องเที่ยวจะได้พบกับพันธุ์ไม้สำคัญอย่าง "เทียนนกแก้ว" ดอกไม้สีชมพูสวยสดที่มีรูปลักษณ์คล้ายกับนกที่กำลังโบยบิน ดอกไม้ชนิดนี้เป็นภาพเด่นในโปสการ์ดของดอยหลวงเชียงดาวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายคนอยากเดินทางมาสัมผัสความงดงามนี้สักครั้ง

นอกจากนี้ระหว่างการเดินทางยังพบพันธุ์ไม้แปลกตาอีกมาก ทั้งที่โชยกลิ่นหอมจางๆ มาแต่ไกลอย่าง "ชมพูพิมพ์ใจ" หรือสวยในระดับต่ำกว่าสายตาอย่าง นางจอย เทียนเชียงดาว หรีดเชียงดาว และฟองหินเหลือง ส่วนที่สูง สง่า มองเห็นแต่ไกลคงไม่พ้นไม้เฉพาะถิ่นอย่าง "ค้อเชียงดาว" ที่มองเห็นอยู่ริมขอบเขาลิบๆ

สำหรับจุดพักแรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณ อ่างสลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเล็กๆ รองรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 200 คน คำว่า "สลุง" เป็นภาษาเหนือ หมายถึงขันเงินแกะสลัก นิยมใช้ใส่ดอกไม้ธูปเทียนไปทำบุญ อ่างสลุงก็คงจะมีลักษณะคล้ายกัน คืออุดมไปด้วยพรรณไม้นานาพันธุ์ที่ทั้งสวยงาม หายาก และทรงคุณค่า

แต่ในทางธรณีวิทยาคำๆ เดียวกันนี้ หมายถึง หลุมบ่อที่เกิดจากการกัดกร่อนละลายหินปูนของน้ำฝนจนเป็นช่องว่างใต้ดินและกลายเป็นทางน้ำธรรมชาติ ต่อเมื่อมีการผุกร่อนมากขึ้นก็ยุบตัวกลายเป็นอ่างใหญ่ เรียกว่า อ่างสลุง หรือ หลุมยุบ นั่นเอง

ด้านหลังของอ่างสลุงคือยอดดอยหลวงเชียงดาวที่สามารถชมวิวได้แบบ 360 องศา จุดนี้เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้สวยที่สุดอีกมุมหนึ่งของประเทศไทย และรายรอบบริเวณนั้นก็มีพันธุ์พืชกึ่งอัลไพน์อีกหลายหลากให้ได้ชม เป็นต้นว่า ฟองหินเหลือง พืชล้มลุกขนาดเล็กที่ชอบเร้นกายอยู่ตามซอกหิน ช่อดอกสีเหลืองสด ยิ่งเมื่อต้องแสงตะวันยิ่งดูเหลืองฉ่ำงดงาม

และก็อย่างที่บอกว่า ดอยหลวงเชียงดาวเป็นแหล่งรวมพรรณไม้หายากและไม้เฉพาะถิ่นมากมาย ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ค้อเชียงดาว ศรีจันทรา กุหลาบขาวเชียงดาว ชมพูเชียงดาว เทพอัปสร ขาวปั้น เทียนหมอคาร์ หรีดเชียงดาว ฯลฯ ล่าสุดที่เพิ่งพบและเป็นชนิดใหม่ของโลก คือ เอื้องศรีเชียงดาว หรือ Siridhornia กล้วยไม้ชื่อพระราชทานที่พบบนยอดดอยหลวงเชียงดาวในระดับความสูง 1,800-2,000 เมตร เท่านั้น ซึ่งพืชพรรณเหล่านี้สามารถพบเห็นได้บริเวณสันคมกิ่วลมเหนือ-ใต้ ที่อยู่ไม่ห่างจากอ่างสลุงมากนัก

ด้วยสภาพภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่อยู่ในภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ระบบนิเวศบนยอดดอยมีความเปราะบาง และพืชพรรณหลายชนิดก็เกิดขึ้นและดับไปภายในช่วงชีวิตเดียว ดังนั้นการเดินทางขึ้นมาชื่นชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติจึงควรกระทำอย่างระมัดระวัง และเคารพในกฎกติกาของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้ดีที่สุด

...................
ติดต่อ : อบต.บ้านนาเลา โทร. 08 9998 0712 หรือ 08 9903 0083

'โมโกจู' ในฤดูแห่งความสุข

โมโกจู เป็นชื่อยอดเขาแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ด้วยความสูง 1,964 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้โมโกจูนั้น ถูกจัดให้เป็นยอดเขาที่มีความสูงอันดับ 6 ของประเทศ และสูงเป็นอันดับ 2 ของผืนป่าตะวันตก รองจาก "เขากะเจอลา" (สูง 2,152 เมตร) ที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก แต่สำหรับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ "โมโกจู" ถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด

เอ่ยชื่อ "แม่วงก์" หลายคนอาจทำหน้างงๆ ก่อนจะหลุดปากถามขึ้นว่า "อยู่ที่ไหน" อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีลำน้ำแม่วงก์เป็นเส้นแบ่งจังหวัด สำหรับกิจกรรมที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของการมาเยือนอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ก็คือ การเดินป่าระยะไกล ซึ่งทางอุทยานฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินป่าได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยมีเส้นทาง "พิชิตยอดเขาโมโกจู" เป็นกิจกรรมยอดนิยม

ชื่อยอดเขาแห่งนี้อาจจะยังไม่คุ้นหูนักท่องเที่ยวทั่วไปเท่าไรนัก เพราะการ "ไปถึง" ค่อนข้างยาก และต้องใช้แรงกาย-แรงใจมากพอสมควร ที่สำคัญใช้เวลาเดินเท้านาน 5 วัน 4 คืน แต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวเพียง 400-500 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสทำความรู้จักกับยอดเขาโมโกจูอย่างแท้จริง

การเดินทางพิชิตยอดเขาโมโกจูจะเริ่มต้นขึ้น ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นักท่องเที่ยวต้องรับฟังการแนะนำสถานที่ แนะนำเส้นทางการเดิน ข้อควรระวัง รวมถึงตักเตือนวินัยในการรักษาสิ่งแวดล้อมก่อนออกเดินทาง ซึ่งอย่างหลังนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ถ้าทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติกับทุกๆ สถานที่ได้ จะทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น

อากาศสดใสในช่วงปลายปีเหมาะสำหรับการเดินทางขึ้นไปชมความงดงามของยอดเขาโมโกจูอย่างมาก แม้ตลอดเส้นทางจะพบกับความยากลำบาก แต่เชื่อแน่ว่า ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่รออยู่ปลายทางจะทำให้ทุกคนหายเหนื่อยได้เป็นปลิดทิ้ง

เส้นทางเดินป่าพิชิตยอดเขาโมโกจูมีระยะทางเดินไป-กลับเกือบ 60 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะต้องฟิตซ้อมร่างกายมาให้ดีก่อนเดินทาง ไม่อย่างนั้นอาจต้องเหลียวหลังกลับตั้งแต่เจอสถานีวัดใจแรก นั่นก็คือ "มอขี้แตก" ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของเนินที่ค่อนข้างสูงและชัน มองดีๆ จากจุดนี้จะสามารถมองเห็นยอดเขาโมโกจูที่อยู่ไกลลิบๆ ได้ จากนั้นการเดินป่าก็จะค่อยๆ ผ่อนเบาลง ก่อนสลับไปหนักอีกครั้งอย่างรวดเร็ว แล้วหนักต่อเนื่องขึ้นอีกในวันที่ 3 ของการเดินทาง ซึ่งจะต้องผ่านภูเขาสูงชันแทบจะตั้งฉากกับพื้นโลก แต่เมื่อพบกับปลายทางซึ่งเป็นจุดสูงสุดที่ทุกคนตามหาแล้วก็ทำให้หายเหนื่อย

โมโกจู เป็นภาษากะหรี่ยง แปลว่า คล้ายว่าฝนจะตก คือมองขึ้นไปเหมือนมีเมฆปิด จนใครมองก็ดูคล้ายว่าฝนจะตกทุกที หรืออีกความหมายหนึ่งคือ เขาเหนือเมฆ บริเวณยอดเขาเป็นเนินหญ้าราว 2-3 ยอด ที่อยู่ติดกัน ทางเดินเล็กๆ นำทางนักท่องเที่ยวไปจนถึงตรงกลางที่มี หินทับเรือใบ ตั้งอยู่

วินาทีที่ได้สัมผัสยอดเขาที่รายล้อมไปด้วยผืนป่าธรรมชาติ หินทับเรือใบที่หลายคนตั้งใจเดินทางมาถ่ายรูป อาจไม่สลักสำคัญเท่ากับความงดงามของทิวทัศน์เบื้องหน้า ภาพในมุม 360 องศา ทำให้ทุกคนอ้าปากค้าง พระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้าตะวันตก พระจันทร์โผล่พ้นขอบโลกตะวันออกขึ้นมา ท้องฟ้าที่มีพระอาทิตย์อยู่คู่พระจันทร์ในเวลาเดียวกันแบบนี้ ช่างสวยงามจริงๆ

"โมโกจู" อาจไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่โมโกจูมีธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยงาม และจะอยู่ในความทรงจำของทุกคนที่ได้ไปเยือน แน่นอน

.................................
ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โทร. 0 5576 6436( ในเวลาราชการ) หรือ ททท.สำนักงานสุโขทัย 0 5561 6366

'มอหินขาว' ความหนาวอันแสนอุ่น

แผนประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นำซุปเปอร์สตาร์อย่าง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย มาถ่ายทำโฆษณา ชุด "มอหินขาว" เมื่อหลายปีก่อนนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จสมดังคาดหมาย เพราะหลังจากโฆษณาผ่านตาผู้ชมทางโทรทัศน์ไปไม่นาน มอหินขาวที่ดูเหมือนจะเคยเงียบเหงาก็เริ่มคึกคักขึ้น

มอหินขาว หรือที่หลายคนพยายามปลุกปั้นให้เป็น "สโตนเฮนจ์เมืองไทย" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ที่บริเวณบ้านวังคำแคน หมู่ 6 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นสวนหินธรรมชาติรูปร่างประหลาด จนสามารถจินตนาการเป็นสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรือ เจดีย์ กระดองเต่า หัวนาค ถ้วยฟีฟ่า หรือกระทั่งหอเอนเมืองปิซาก็ยังมี ซึ่งเสาหินเหล่านี้มีความสูงจากผิวดินหลายเมตร สังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะไกล ยิ่งกลางวันแดดส่องถึงจะเห็นเป็นสีขาวพราวไปทั้งเนิน

ส่วนที่มาของชื่อ "มอหินขาว" นั้น ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร คือมาจาก เนินเขา ที่ในภาษาอีสานเรียกว่า "มอ" กับลักษณะเด่นของหินที่มีสีขาวเมื่อต้องแสง ชาวบ้านจึงพากันเรียกบริเวณนี้ว่า "มอหินขาว" แต่นอกจากเรื่องจริงของหินรูปร่างประหลาดแล้ว ยังมีเรื่องเล่าถึงความมหัศจรรย์ของหินโบราณเหล่านี้อีกว่า ที่บริเวณหินใหญ่ 5 ก้อน จะมีแสงสีขาวส่องสว่างขึ้นมาทุกๆ คืนวันพระ (15 ค่ำ, 8 ค่ำ) คนเฒ่าคนแก่จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า "มอหินขาว" ตามปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่เห็น

ข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ทางธรณีวิทยาบอกว่า มอหินขาวน่าจะมีอายุราว 175-195 ล้านปี ซึ่งอยู่ในยุคจูราสสิค-ครีเทเชียส ลักษณะส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว นอกจากนี้ก็ยังมีหินทรายแป้ง หินโคลน หินทรายสีม่วง กระจายอยู่โดยรอบ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกจากการสะสมตัวของตะกอนทรายและดินเหนียวจนมีความแข็ง เมื่อเปลือกโลกเคลื่อนไหวทำให้เกิดการคดโค้งและแตกหักของชั้นหิน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ การผุพัง การกัดเซาะจากน้ำฝน รวมถึงน้ำไหลตามผิวดิน ยังทำให้ลานหินค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นแท่นหินสูงต่ำ และกลายเป็นเสาหินตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ลักษณะมอหินขาวจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรก มีเสาหินขนาดใหญ่ 5 ต้นเรียงกัน สูงจากพื้นดินราว 12 เมตร ส่วนขนาดนั้นคนไทยชอบวัดจากการโอบ ว่ากันว่าแท่งหินที่ใหญ่ที่สุดนั้นต้องใช้คนโอบมากถึง 22 คนเลยทีเดียว สำหรับกลุ่มที่ 2 อยู่ถัดจากกลุ่มแรกไปไม่ไกล เรียกว่า หินเจดีย์โขลงช้าง ลักษณะเป็นดงหินรูปร่างประหลาดแตกต่างกันไป บ้างมีรูปคล้ายเจดีย์ กระดองเต่า รองเท้าบูท ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นลานหินกว้างที่ลาดเอียงบนถึงหน้าผา เรียกว่า ผาหัวนาค สวยขนาดที่บริษัทผลิตแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งพานางแบบลูกครึ่งขึ้นมาถ่ายทำโฆษณากันถึงที่นี่

แม้จะไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม แต่อากาศโดยรอบมอหินขาวก็ค่อนข้างเย็นสบาย และหากไปเยือนในช่วงฤดูหนาวที่ดวงดาวพราวสะพรั่งเต็มท้องฟ้า บรรยากาศหนาวๆ บนมอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จะดูโรแมนติกมากขึ้น และอาจทำให้คู่รักบางคู่รู้สึกอบอุ่นขึ้นได้ ถ้าอยากรู้ว่าจะจริงแท้แค่ไหน ปีใหม่นี้ก็ลองไป "สัมผัสหนาว นอนชมดาว ที่มอหินขาว ชัยภูมิ" กันดู

.....................................
ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติภูแลนคา โทร. 0 4481 0902-3

'ขุนสถาน' น่าน...น่ะสิ

"ลมหนาวมาเมื่อไร..." ไม่ใช่เวลาที่จะนั่งเหงาๆ อีกต่อไป แต่เป็นสัญญาณว่าควรหายอดดอยหรือยอดภูแห่งใดแห่งหนึ่งไปสัมผัสกับความหนาวเย็นที่นัดพบกันแค่ปีละครั้งและในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ เท่านั้น

หนึ่งในมุมสูงแสนสวย หากไม่เอ่ยถึงอุทยานฯน้องใหม่ อย่าง อุทยานแห่งชาติขุนสถาน คงจะไม่ครบถ้วน ด้วยพื้นที่อันกว้างขวางครอบคลุมทั้งหุบเขาและชายป่าทางฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้ ทำให้ทัศนียภาพของที่นี่่สุดสายตาพาโนรามาด้วยภาพเทือกเขาเรียงรายสลับซับซ้อน เหมาะกับคนที่ชอบทอดสายตาไปไกลๆ สูดหายใจลึกๆ กับอากาศยามเช้าแสนบริสุทธิ์

อุทยานฯขุนสถาน อยู่ในเขตอำเภอนาน้อยและอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน มี ดอยแม่จอก เป็นยอดดอยที่มีความสูง 1,424 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศค่อนข้างเย็นตลอดทั้งปี ยิ่งเป็นช่วงหน้าหนาวอุณหภูมิจะลดลงจนต้องพึ่งถุงมือและผ้าพันคอ

มาถึงที่นี่แล้ว นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดการรอชมแสงสุดท้ายของวัน ณ จุดชมวิว ภาพพระอาทิตย์ดวงโตสีส้มสุกหายลับไปหลังเหลี่ยมเขาทิ้งไว้เพียงสีแดงระเรื่อของท้องฟ้างดงามเกินบรรยาย ขณะที่ยามค่ำคืนจะเห็นแสงไฟส่องสว่างของหมู่บ้านเบื้องล่าง เป็นดาวบนดินที่ระยิบระยับไม่น้อยหน้าดวงดาวบนท้องฟ้าในคืนเดือนแรม

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณใกล้เคียงก็ได้แก่ ดอยกู่สถาน ดอยที่มีความสูงถึง 1,630 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามอากาศหนาวเย็นตลอดปี

แม่น้ำน่านตอนบนเขื่อนสิริกิตติ์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือหรือแพชมความสวยงามได้ และบางครั้งยังพบฝูงปลากระโดดเล่นน้ำและแหวกว่ายอยู่กลางน้ำที่ใสสะอาดอีกด้วย

สำหรับคนที่อยากท้าความหนาวด้วยการเล่นน้ำตก แนะนำ 'น้ำตกตาดหมอก' ซึ่งอยู่บริเวณดอยแม่จอก ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร น้ำตกนี้มีความสูงประมาณ 50 เมตร และมีอยู่ 3 ชั้น

หรือจะเข้าถ้ำก็ไม่ผิดกติกา ที่นี่มีถ้ำขนาดใหญ่ชื่อ 'ถ้ำละโอ่ง' มีความยาวประมาณ 1.8 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีลำธารไหลผ่าน และมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม

ทว่าไฮไลท์ของอุทยานแห่งชาติขุนสถานนอกจากลมหนาว ดาวเดือน และหมอกบางๆ ยามเช้าแล้ว เป็นที่รู้กันว่าช่วงเดือนมากราคม คือเวลาอันเหมาะเจาะในการชมความงามของดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย ที่จะเบ่งบานตลอดทั้งดงดอย พร้อมๆ ไปกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ของ 'ดอกหญ้าหอม' ช่วยเพิ่มความสดชื่นเบิกบานให้กับการเริ่มต้นปีใหม่นี้

ใครที่ตัดสินใจปักหมุดหมายไว้ที่ขุนสถาน หากขับรถไปเอง เมื่อเดินทางถึงจังหวัดน่าน ให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1026 สายอำเภอเวียงสา - อำเภอนาน้อย จากอำเภอนาน้อยเลี้ยวขวาไปถึงที่ทำการอุทยาน ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ที่อุทยานฯมีบ้านพักและสถานที่กางเต๊นท์

แล้วคุณจะรู้ว่า ยิ่งสูง...ยิ่งหนาว...ยิ่งน่าประทับใจ
...............................
ติดต่อ : อุทยานแห่งชาติขุนสถาน โทร. 0 5470 1121, 0 5473 1585, 0 5473 1688, 08 7173 9549


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ยิ่งสูง ยิ่งหนาว

view