สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักฟิสิกส์โนเบลยันข่าวลือโลกแตก 2012 ไร้หลักการวิทยาศาสตร์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลเยือน ไทย บรรยายเชื่อมสันติภาพ ให้ความเห็นกรณีข่าวลือ “โลกแตก 2012” ว่าเป็นข่าวลือที่ไร้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และแปลกใจทำไมคนจึงตื่นตระหนกต่อเรื่องนี้ พร้อมบรรยายถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากการต่อยอดความรู้ก่อน หน้า ส่วนวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีหรือแย่ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้
       
       ศ.ดักลาส ดี.โอเชอร์ลอฟ (Prof. Douglas D. Osheroff) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) สหรัฐฯ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เมื่อปี 2539 จากการค้นพบว่าไอโซโทปฮีเลียม-3 (Helium-3) นั้นมีคุณสมบัติเป็น “ของไหลยิ่งยวด” (Super-fluid) หรือของไหลที่ไม่มีความหนืด ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างไร” (How Science Changes Our Lives) เมื่อ 12 ธ.ค. 55 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
       
       ทั้งนี้ ศ.โอเชอร์ลอฟกล่าวว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่เปลี่ยนแปลความเข้าใจของเราที่มีต่อธรรมชาติ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว อย่างเช่น เครื่องมือที่ทำให้เขาได้ค้นพบความเป็นของไหลยิ่งยวดในฮีเลียม-3 นั้น ส่วนหนึ่งใช้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคด้านนิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์ (Nuclear Magnetic Resonance) หรือเอ็นเอ็มอาร์ (NMR) ที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นมาก่อนหน้าเขา

      “เคยมีคนถาม ฟิลิกซ์ บลอช (Felix Bloch) และเอ็ดเวิร์ด พูร์เซลล์ (Edward Purcell) ผู้คิดค้นเทคนิคเอ็นเอ็มอาร์ว่านำไปใช้อะไรได้ คนหนึ่งตอบว่าไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้น ส่วนอีกคนคาดหวังว่าจะนำไปใช้วัดความเข้มสนามแม่เหล็กได้ ซึ่งผมก็นำเทคนิคของพวกเขามาพัฒนาเครื่องมือของผมที่ทำให้พบว่า ฮีเลียม-3 นั้น มีคุณสมบัติเป็นของไหลยิ่งยวดได้ แต่นำไปใช้อะไรได้นั้น ผมไม่ทราบ” ศ.โอเชอร์ลอฟกล่าวถึงการค้นพบทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้เราเข้าใจในธรรมชาติ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำไปใช้ต่ออย่างไร
       
       พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ถามเขาว่าวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงเราไปสู่ทางที่ดีหรือแย่ ซึ่งเขาได้ตอบว่าวิทยาศาสตร์นั้นทำให้เรารู้ธรรมชาติ แต่เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่ที่ดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับเรานำไปใช้อย่างไร เหมือนกรณีที่ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลได้พัฒนาระเบิดไดนาไมต์เพื่อใช้ในกิจการ เหมือง แต่คนกลับนำไปใช้ในการก่อสงคราม
       
       โอกาสเดียวกันนี้ทีมข่าวได้ขอความเห็น ศ.โอเชอร์ลอฟ ต่อความตื่นกลัวในเรื่องวันสิ้นโลก 2012 ว่าผู้ไม่มีพื้นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ควรรับมือกับข่าวลือนี้อย่างไร ซึ่งเขาได้บอกว่าข่าวลือดังกล่าวไม่มีหลักการความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เลย และเขาเองก็แปลกใจว่าเหตุใดคนจึงตื่นตระหนกในเรื่องนี้

       ทางด้าน ศ.ดร.เดวิด รูฟโฟโล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสริมว่า เว็บไซต์ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ขึ้นข้อความชี้แจงว่า วันที่ 21 ธ.ค.นั้นเป็นวันธรรมดาที่ไม่ได้มีความพิเศษใดๆ แต่สำหรับคนที่ไม่มีพื้นความรู้วิทยาศาสตร์หรือภาษาอังกฤษก็ยากที่จะแปลข้อ ความที่นาซาสื่อสารได้ ซึ่ง ศ.โอเชอร์ลอฟได้เสริมว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนาซาที่แปลข้อความเป็นภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ให้คนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูล
       
       ด้าน นายฐปกรณ์ เจริญโตมีชัย นักศึกษาปริญญาโท ปี 1 สาขาเคมีอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเข้าฟังบรรยายของ ศ.โอเชอร์ลอฟ กล่าวว่า ปกตินักวิทยาศาสตร์ที่มาบรรยายในมหาวิทยาลัยมักพูดเรื่องเฉพาะด้าน แต่นักฟิสิกส์โนเบลคนนี้พูดในเรื่องทั่วไป เขาจึงเข้ามาฟังเพื่อหาแนวคิดใหม่ๆ สำหรับนำไปใช้ในงานวิจัยที่ทำอยู่ โดยขณะนี้กำลังสังเคราะห์ซิลิกอนใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชนิดใหม่หรือผลิตเป็นโพลิเมอร์ใหม่ๆ

       ส่วน นายทัศไนย สุขเบญจา นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ ศ.โอเชอร์ลอฟและภรรยา พร้อมนักเรียนและนักศึกษาอีกราว 20 คน กล่าวว่า ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์อย่างไปสิ้น เชิง จากเดิมที่คิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องเคร่งขรึมและเครียดตลอดเวลา แต่นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลผู้นี้กลับเป็นคนที่ยิ้มแย้ม และระหว่างพูดคุยก็มีฮัมเพลงขึ้นมาด้วย
       
       “ผมจะยึดเขาเป็นแบบอย่าง เขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผม หลังได้รับรางวัลโนเบลแล้วก็ไม่โอ้อวด กลับไปทำงานวิจัยตามปกติ เขายังสอนด้วยว่าในการทำวิจัยใดๆ ต้องศึกษาอย่างจริงจังและนำงานวิจัยที่มีอยู่เดิมมาต่อยอด และหลังจากฟังบรรยายทำให้ทราบว่าวิทยาศาสตร์นั้นก็ส่งผลกระทบทั้งด้านดีและ ด้านเสีย ในด้านดีก็ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบาย ส่วนด้านเสียก็ทำให้เกิดมลภาวะ แต่วิทยาศาสตร์ก็สามารถแก้ไขข้อเสียดังกล่าวได้” ทัศไนยให้ความเห็น
       
       สำหรับการบรรยายของ ศ.โอเชอร์ลอฟ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสวนา “สานสัมพันธ์สู่สันติวัฒนธรรม” หรือ “บริดจ์” (Bridges : Dialogues Towards a Culture of Peace) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสันติภาพนานาชาติ (International Peace Foundation) ระหว่างเดือน พ.ย. 55 - มี.ค. 56 ในประเทศไทยและเวียดนาม โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าฟังบรรยายจากผู้รับรางวัลโนเบลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.peace-foundation.net


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นักฟิสิกส์โนเบล ข่าวลือโลกแตก 2012 ไร้หลักการ วิทยาศาสตร์

view