จาก โพสต์ทูเดย์
ทุกวันนี้คนไทยยุคใหม่มีร่างกายสูงใหญ่และแข็งแรง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาทางด้านโภชนาการ
ซึ่งนมคืออาหารที่ช่วยเสริมสร้างโภชนาการให้กับคนไทยมาช้านาน แต่ทราบหรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้คนไทยหันมาดื่มนมนั้น มีจุดเริ่มต้นย้อนหลังกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์กเพื่อทอดพระเนตรกิจการโคนมและฟาร์มปศุสัตว์
ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2503 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เครื่องบินพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ลงจอดยังท่าอากาศยานคัสทรุป กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริด แห่งประเทศเดนมาร์ก ทรงรอรับเสด็จที่เชิงบันได และนั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น ระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์กในระดับราชวงศ์
ตลอดเส้นทางที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนไปยังที่ประทับรับรอง มีเหล่าพสกนิกรทั้งชาวไทยและต่างประเทศมายืนรอรับเสด็จตลอดสองข้างทาง เพื่อเฝ้าชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ ซึ่งในครานั้นพระราชวังฟริเดนสบอร์กถูกใช้เป็นที่ประทับ และทั้งสองพระองค์ได้รับการถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 9 นำเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง และเจ้าหญิงแห่งเดนมาร์กทั้งสามพระองค์ คือ เจ้าหญิงแอนน์มารี เจ้าหญิงมาร์เกรเธ และเจ้าหญิงเบนเนดิกเต ตามเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระตำหนักที่ประทับ
เวลาบ่ายของวันที่ 8 ก.ย. 2503 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของโรงพยาบาล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรฟาร์มทดลองปศุสัตว์ของทางราชการ เพื่อทอดพระเนตรการสาธิตการใช้เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร และการทำปศุสัตว์ ซึ่งในสมัยนั้นเทคโนโลยีการเกษตรของเดนมาร์กได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดใน โลก ณ ที่แห่งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กมาก เป็นพิเศษ เพราะโคนมพันธุ์เรดเดน ซึ่งเป็นโคนมพันธุ์พื้นเมืองของประเทศเดนมาร์กนั้น สามารถให้น้ำนมสูงถึงวันละมากกว่า 20 ลิตรต่อตัว
จากการเสด็จเยือนฟาร์มทดลองปศุสัตว์ในครั้งนั้น ทำให้พระองค์ทรงตระหนักว่า น้ำนมสดมีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ พระองค์จึงอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี สูงใหญ่และแข็งแรง ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการดำเนินกิจการโคนมในประเทศไทย และนั่นนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกิจการโคนมในประเทศไทย ภายหลังจากการเสด็จนิวัตประเทศไทยได้เพียง 2 ปี โดยรัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมเกษตรกรเดนมาร์ก ได้ร่วมกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศ ไทยให้เป็นของขวัญแด่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์
ฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คนั้น ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2505 ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์ก ในยุคเริ่มต้นนั้นมี นิลส์ กุนนาส์ ซอนเดอร์กอร์ ผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์ก ซึ่งมาร่วมงานด้านปศุสัตว์กับรัฐบาลไทยในขณะนั้น เป็นผู้จัดทำโครงการเสนอไปยัง Danish Agricultural Marketing Board และต่อมาในเดือน ม.ค. 2504 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์กเดินทางมาศึกษาและสำรวจพื้นที่ร่วมกับเจ้า หน้าที่ฝ่ายไทย นำโดย ยอด วัฒนสินธุ์ ข้าราชการตำแหน่งนายสัตวบาลเอก กองส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิตและศูนย์ฝึกอบรม ณ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีจุดเด่น คือ เป็นหุบเขาที่สวยงาม มีแหล่งน้ำสะอาด มีอากาศเหมาะสม มีถนนมิตรภาพตัดผ่าน และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งเมื่อปี 2513 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มสาธิตและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย–เดนมาร์ค เพื่อมาจัดตั้งเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค.
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี กิจการโคนมในประเทศไทยเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย คอยทำหน้าที่สร้างความมั่นคงและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมนมไทย ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรที่สามารถดำรงชีพได้ด้วยการเลี้ยงโคนมมาก กว่า 1.8 หมื่นครอบครัว และมีตลาดนมที่มีมูลค่าสูงกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และอาชีพการเลี้ยงโคนมนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็น “อาชีพพระราชทาน” อันเกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชน ชาวไทย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต