สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โครงการหลวงวัดจันทร์ จากพระราชดำริ สู่การพัฒนาชีวิตราษฎร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

     หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ รวมไปถึงโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการส่วนพระองค์ที่ส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขาเพื่อ เป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น
       
       โดยโครงการหลวงจะมีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการ จำนวน 38 ศูนย์ และหนึ่งในนั้นก็คือ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” ในพื้นที่ของ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่

      “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” หรือ “โครงการหลวงวัดจันทร์” นั้นกำเนิดขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราช ดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2522 และได้ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
       
       โดยจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์” ซึ่งมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นองค์ประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรองกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นกรรมการ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมชลประทาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น

      ในพื้นที่ของ อ.กัลยาณิวัฒนา (ที่รู้จักกันในนาม “ป่าสนวัดจันทร์”) แต่เดิมนั้นเป็นที่อยู่ของชาวปกาเกอะญอ ในภายหลัง ก็มีคนเมืองเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันกับชาวปกาเกอะญอ กลายเป็นชุมชนบ้านจันทร์ หรือชุมชนบ้านวัดจันทร์ในเวลาต่อมา โดยชาวปกาเกอะญอเรียกดินแดนนี้ว่า “มือเจะคี” ซึ่งมีความหมายว่า “ต้นน้ำแม่แจ่ม” เนื่องจากป่าไม้ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยเล็กๆ หลายสาย ที่ไหลไปรวมกันเป็นต้นน้ำแม่แจ่ม และไหลไปรวมกับแม่น้ำปิง ก่อนที่จะรวมปิง วัง ยม น่าน กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดสายใหญ่ของคนภาคกลาง
       


       ด้วยภูมิประเทศในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเนินเขาและภูเขาที่สลับซับ ซ้อน เป็นป่าสนเขา สนสองใบ และสนสามใบ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีการประกอบอาชีพทางการเกษตร ทั้งพืชไร่ พืชผัก และไม้ผลเมืองหนาว ทางศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ จึงได้เข้ามาช่วยพัฒนาการประกอบอาชีพของชาวบ้านให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
       นอกจากหน้าที่ในการช่วยเหลือและพัฒนาพื้นที่แล้ว โครงการหลวงวัดจันทร์ก็ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ให้ความรู้อีกมาก มาย อย่างเช่น ในพื้นที่ของโครงการ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร แปลงพืชผักปลอดสารพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟักทองญี่ปุ่น ผักกาดหวาน ผักสลัด หรือดอกไม้นานาพันธุ์ที่ออกผลผลิตตามฤดูกาล เช่น กระเจียวในหน้าฝน กล้วยไม้ป่า หรือผลไม้เมืองหนาว อาทิ พลับ บ๊วย พลัม อโวคาโด เป็นต้น
       
       ซึ่งจากผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มานั้น ก็มีการผ่านกระบวนการออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรให้เลือกซื้อ เลือกชม เช่น ข้าวเกรียบฟักทองญี่ปุ่น บ๊วยดอง บ๊วยผง พลัมดอง ไวน์ เหล้า เป็นต้น
       
       ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ นักท่องเที่ยวก็สามารถเข้าไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมวิวทะเลหมอก ชมกอไผ่ยักษ์ เข้าไปเที่ยวน้ำตกห้วยฮ่อม และพักผ่อนบริเวณอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ที่สำคัญก็คือ ดงสนสามใบที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณพื้นที่ของโครงการ ที่เป็นเอกลักษณ์ของ อ.กัลยาณิวัฒนา       ในบริเวณชุมชนวัดจันทร์ นอกจากจะมีโครงการหลวงวัดจันทร์แล้ว ก็ยังมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวหลายคนรู้จักกันดี อย่างเช่น ป่าสนวัดจันทร์ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือที่รู้จักกันว่า “ออป. วัดจันทร์” ที่มีบรรยากาศร่มรื่นด้วยแนวต้นสนที่ปลูกอยู่โดยรอบ นักท่องเที่ยวสามารถปั่นจักรยานไปตามเส้นทาง ชมทิวทัศน์ป่าไม้ ทุ่งนาเขียวขจี อ่างเก็บน้ำที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ที่ยามเช้าจะมีสายหมอกล่องลอยอยู่เหนือผืนน้ำ


       
       และสามารถชมวิวทิวทัศน์ของชุมชนวัดจันทร์ได้ที่จุดชมวิวบนเนินเขา ที่ประดิษฐาน “พระธาตุจอมแจ้ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนี้ โดยจะได้มองเห็นชุมชนวัดจันทร์อันมีฉากหลังเป็นเทือกเขาทอดยาว ท่ามกลางป่าสนและทุ่งนาอันเขียวขจี      ส่วนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวชุมชนก็คือ “วัดจันทร์” ที่เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน ประดิษฐานพระธาตุวัดจันทร์ และมีวิหารที่เป็นที่รู้จัดของคนทั่วไปว่า “วิหารแว่นตาดำ” หรือ “วิหารเรย์แบน” ที่เมื่อมองจากด้านหน้าวิหารแล้วจะเห็นภาพคล้ายกับมีแว่นตาขนาดใหญ่สวมอยู่
       
       แหล่งท่องเที่ยวของชุมชนวัดจันทร์นั้น งดงามด้วยพื้นที่ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น บางส่วนก็ยังมองดูคล้ายกับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในพื้นที่อื่นด้วย เช่น “ปางอุ๋งน้อย” หรือพื้นที่ส่วนปศุสัตว์ของโครงการหลวงวัดจันทร์ เหตุที่เรียกว่าปางอุ๋งน้อย ก็เพราะมีอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมๆ แวดล้อมด้วยป่าสน มีโรงเลี้ยงกระต่าย และฝูงแกะเดินเล่นอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าและป่าสน
       
       หากมาเยือนที่โครงการหลวงวัดจันทร์ หรือแม้แต่ในบริเวณชุมชนวัดจันทร์ นอกจากจะเป็นการมาท่องเที่ยวกระจายรายได้แก่ชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งแล้ว ก็ยังได้มารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านโครงการส่วนพระองค์ที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น ที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชนชาวไทย
    * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้ง อยู่ที่บ้านเด่น หมู่ที่ 7 ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ โทร. 0-5331-8325, 08-4365-5465


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : โครงการหลวงวัดจันทร์ พระราชดำริ การพัฒนา ชีวิตราษฎร

view