สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แกะรอยจินตนาการ ของ รมต.บุญทรง สยามอินดิก้า พัน ข้าว G to G

จากประชาชาติธุรกิจ

การ อภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยพุ่งเป้าไปที่โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลออกมาให้เห็น อย่างชัดเจนจากคำอภิปรายของน.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก กับนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ ส.ส.ยะลา กล่าวหามีการอุปโลกน์บริษัทจีน ชื่อว่า GSSSG IMP AND EXP.CORP ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การกีฬา ตั้งอยู่ที่เมืองกวางเจา เข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G กับรัฐบาลไทยขั้นตอนการซื้อข้าวที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อ้างว่าเป็นการขายข้าวแบบ G to G จำนวน 7.328 ล้านตัน (จำนวน 6 สัญญา) ซึ่งมีรัฐบาลจีน เป็น 1 ในประเทศที่ซื้อข้าวไทย (ไม่ยอมระบุปริมาณที่ขายให้จีน แต่ยอมรับว่าข้าวจำนวน 7.328 ล้านตันนั้น รัฐบาลไทยขายให้กับรัฐบาลจีนมากที่สุด)



จาก การตรวจสอบของ ส.ส.วรงค์พบว่า บริษัท GSSSG IMP ไม่ได้ส่งคนเข้ามาทำสัญญาซื้อขายโดยตรง แต่ใช้วิธี "มอบอำนาจ" ให้กับนายหน้าชาวไทย (นายหรั่ง-นายโจ) เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G กับกรมการค้าต่างประเทศโดยการทำสัญญาดังกล่าวได้จ่ายเงินเป็น "เช็คค่าข้าว" ให้กับกรมการค้าต่างประเทศ (คต.-หน่วยงานราชการ) แทนที่จะจ่ายเงินให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.-รัฐวิสาหกิจของกระทรวงพาณิชย์) เหมือนกับที่ดำเนินการมาในอดีต เท่ากับว่า คนรับเงินค่าข้าวเป็นกรมการค้าต่างประเทศ ไม่ใช่องค์การคลังสินค้า หรือเงินไม่ผ่านมือ อคส.

ไม่มีใครรู้ว่า กรมการค้าต่างประเทศ รับเช็คค่าข้าวจากนายหน้า ของ GSSSG IMP เท่าใด แต่มีเงินเข้ามาในบัญชีของกรมการค้าต่างประเทศแน่ ตรงนี้จึงเป็นต้นเหตุของการให้สัมภาษณ์ของนายบุญทรง กับโฆษกข้าว ที่ได้รับการแต่งตั้ง (นายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ) ที่ว่า "มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวจริง เพราะ คต.เป็นคนรับเช็ค"

ขั้น ตอนต่อไป กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะคู่สัญญา จะออก ใบส่งสินค้า หรือใบ D/O แต่แทนที่ในใบ D/O จะระบุชื่อ บุคคล/บริษัท ที่ทำสัญญาเป็นผู้ซื้อข้าว กลับระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าเป็น "กรมการค้าต่างประเทศ" บอกปริมาณข้าว ชื่อคลังสินค้าของ อคส.ที่จะไปรับข้าว แต่ไม่ยอมระบุราคาขายข้าว โดยด้านล่างของใบ D/O จะระบุชื่อบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับข้าวแทนเท่าที่ผ่านมามีการระบุชื่อ บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับมอบข้าวที่คลังสินค้าอคส.อยู่ 3 คน ทั้งหมดนี้กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงว่า เป็นการขายข้าว G to G แบบ X-warehouse หรือภาระของผู้ขายสิ้นสุดลง ณ หน้าคลังสินค้า ส่วนผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มารับมอบข้าว หรือใครจะเอาข้าวไปปรับปรุง รวมทั้ง ข้าวจำนวนนี้จะเดินทางไปที่ไหน "ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ขายที่จะเข้าไปตรวจสอบ"

แต่ที่สำคัญก็คือ บุคคลที่ น.พ.วรงค์ระบุ เป็นตัวแทนบริษัท GSSSG IMP ที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าว ผู้รับมอบข้าว ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับ บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยสถานะปัจจุบันของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริฯ ถูกธนาคารเจ้าหนี้มากกว่า 10 แห่ง รวมไปถึงองค์การคลังสินค้า ฟ้องล้มละลายจากการผิดนัดชำระหนี้ (เป็นผลมาจากความอื้อฉาวของบริษัทที่ชนะประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว และมีพฤติกรรมนำข้าวมาเวียนขายต่อให้กับผู้ส่งออกภายในประเทศ ประกอบกับข้าวบางส่วนก็ผิดนัดรับมอบข้าวกับ อคส. กลายเป็นสาเหตุที่ต้องตั้งบริษัทสยามอินดิก้า เป็นหน้าฉากขึ้นมาประกอบธุรกิจค้าข้าวต่อไป)

ข้อสงสัยจากกระบวนการ ขายข้าวแบบ X-warehouse ของกรมการค้าต่างประเทศ ก็คือทำไมต้องเลือกวิธีการขายข้าวแบบนี้ ทำไมเงินค่าข้าวต้องใช้วิธี "ตีเช็ค" เข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ แทนที่จะเปิด L/C หรือ Letter of Credit ในรูปแบบการค้าปกติที่ทุกคนทำกันอยู่ ทำไมกรมการค้าต่างประเทศไม่เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลประเทศนั้น ๆ เอง ทำไม

ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของการทำสัญญาซื้อขายข้าวที่อ้างว่า เป็นสัญญาแบบ G to G ได้ และข้าวที่รับมอบ ณ หน้าคลังถูกส่งไปที่ไหน กับคำกล่าวที่ว่า "เราได้เงินมาแล้วก็จบเรื่อง" กับไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของสัญญา เพราะเป็นความลับของรัฐบาลประเทศผู้ซื้อ เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะตอบข้อสงสัยเหล่านี้

จนกลายเป็นความสงสัยของ สาธารณชนที่เชื่อว่า "บริษัทสยามอินดิก้า" น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการขายข้าวแบบ G to G ครั้งนี้ จากเหตุผลที่ว่า 1)ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทนี้ในอดีต/ปัจจุบัน ล้วนเข้ามาพัวพันกับการทำสัญญา-การรับมอบข้าว 2)ข้าวที่รับมอบมาไม่ได้ถูกส่งออกไปนอกประเทศ จากการตรวจสอบตัวเลขส่งออกข้าวไปจีน ล่าสุดในช่วงระหว่างการทำสัญญาขายข้าว G to G (สิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/55) ไม่พบการส่งออกข้าวปริมาณใกล้เคียงกับที่ถูกระบุว่า รัฐบาลจีนซื้อ (5 ล้านตัน)

ข้อแก้ตัวของกรมการค้าต่างประเทศ ก็ยังคงเป็นแบบเดิม ๆ ที่บอกว่า การส่งออกข้าว G to G ไม่ปรากฏอยู่ในสถิติการส่งออกข้าวของรัฐบาล เพราะรัฐบาลประเทศผู้ซื้อรับมอบข้าว ณ หน้าคลัง (X-warehouse) จะตั้งบริษัทใดหรือบุคคลใดมารับมอบข้าวก็ได้ ส่วนที่ตัวเลขการส่งออกข้าวไปจีนมีปริมาณน้อยผิดปกติจากการทำสัญญาซื้อขาย ข้าวปริมาณมาก ก็เป็นเพราะรัฐบาลประเทศผู้ซื้ออาจจะนำข้าวนั้นไปบริจาคหรือขายต่อก็ได้กลาย เป็นคำพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องทั้งในและนอกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ได้ยืนยันที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป ด้วยการนำข้อมูลทั้งหมดที่ใช้ในการอภิปรายส่งให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบประเด็น เส้นทางของเงินค่าข้าวที่เข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศแล้ว "ไปที่ไหน"

ใน ประเด็นนี้พบว่า เงินค่าข้าวถูกเบิกจ่ายผ่านบัญชีในธนาคารใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย โดย น.พ.วรงค์กล่าวในระหว่างการอภิปรายว่า ในช่วงวันที่ 28 กันยายน-15 ตุลาคม (ช่วงขายข้าว G to G) ปรากฏการถอนเงินในหลายลักษณะทั้งแคชเชียร์เช็คและการโอนเงิน อาทิ การโอนเงิน 72 รายการ มูลค่า 4,960 ล้านบาท หรือการถอนเงินมูลค่า 4,200 ล้านบาท

เส้นทางการเดินทางของเงินค่าข้าวจึงน่าสนใจ ซึ่งอาจจะต้องใช้การแกะรอยของ ป.ป.ช. กับ ปปง. เข้ามาช่วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องการทุจริตในกระบวนการรับจำนำข้าวเข้ามาดำเนินการแล้ว ท่ามกลางความระทึกของผู้เกี่ยวข้องว่า งานนี้จะเป็นเพียงแค่ "จินตนาการ" หรือ "ของจริง" ที่พุ่งตรงสู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : แกะรอยจินตนาการ รมต.บุญทรง สยามอินดิก้า พันข้าว G to G

view