สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิพากษ์เอกสาร รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว TDRI ชี้ข้อมูลไม่ครบ หมก ค่าใช้จ่ายขาดทุนแสนล้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุทางการเมือง หลังจากที่คาดการณ์กันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะหยิบยก โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2554/55 ขึ้นมาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ด้วยการชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากโครงการรับจำนำที่มีต่อหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต รวมไปถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการ TDRI ออกโรง "สับ" เอกสาร รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว

ข้อมูลไม่จริง "หมก" ค่าใช้จ่ายขาดทุนแสนล้าน ล่าสุด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ออกมาวิพากษ์เอกสาร "รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว" ที่จัดทำโดยกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)



ในเอกสารฉบับนี้มีสาระสำคัญด้วยการตั้งคำถามที่ว่า ทำไมรัฐบาลชุดนี้จึงต้องจำนำข้าวเปลือก ? พร้อมกับแสดงวัตถุประสงค์ของการรับจำนำไว้ 4 ประการด้วยกันคือ

1) รัฐบาลต้องจำนำข้าวเพื่อยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนา 2) เพื่อสร้างความเติบโตเศรษฐกิจ ด้วยการขยายการบริโภคภายในประเทศ 3) เพื่อดึงอุปทานข้าวเข้ามาอยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ทำให้สร้างเสถียรภาพราคาข้าวได้ และ 4) เพื่อยกระดับราคาข้าวไทยให้สูงขึ้นทั้งระบบทั้งหมดนี้ ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยบอกว่า "ไม่จริง" จากการตรวจสอบข้อมูลที่เอกสารที่นำเสนอ

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ข้อมูลจากหนังสือ "รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว" ของกรมการค้าภายในนั้น ให้ข้อมูล

ไม่ครบถ้วนในหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้ 1) กรณีที่รัฐบาลให้เหตุผลที่ต้องมีโครงการรับจำนำข้าว โดยอ้างว่าหากปล่อยให้ราคาข้าวเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรไทยคงหนีไม่พ้นวัฏจักรความยากจน แต่จากการทำวิจัยของ TDRI พบว่า ชาวนามีหนทางหลุดพ้นวัฏจักรความยากจนได้ เนื่องจากส่วนใหญ่มีรายได้จากทางอื่น

จากการสำรวจพบว่า กลุ่มชาวนาที่ทำนาอย่างเดียวยังมีรายได้อื่น เป็นชาวนากลุ่มน้อย (19.8% หรือ 1.14 ล้านครัวเรือน) ของชาวนาทั้งประเทศ 5.79 ล้านครัวเรือน มีรายได้จากการเกษตร 37.3% ขณะที่ชาวนากลุ่มใหญ่ คือ ชาวนาที่ทำนาและทำเกษตรอื่น กลุ่มนี้ปรากฏมีรายได้นอกภาคเกษตรด้วย กลุ่มนี้มีถึง 53.6% หรือกว่า 3.10 ล้านครัวเรือน ซึ่งมีรายได้จากการเกษตรแค่ 18.4% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ชาวนายิ่งจน ยิ่งพยายามหารายได้จากนอกภาคเกษตร จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2554 พบว่า ชาวนาที่ทำนาอย่างเดียวที่จนที่สุด 20% แรก หรือกว่า 4.51 ครัวเรือน จากทั้งหมด 1.14 ล้านครัวเรือน มีรายได้ส่วนใหญ่จากนอกภาคเกษตรถึง 84.4% แต่มีรายได้จากการเกษตรแค่ 15.6% ส่วนชาวนาที่ทำนาอย่างเดียวที่รวยที่สุด 20% สุดท้าย พบว่ารายได้มากกว่าครึ่ง หรือ 57% มาจากภาคเกษตร ส่วนรายได้นอกเกษตรอยู่ที่ 43%

2) ประเด็นที่ว่า การขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น ประเทศไทยไม่ได้เสียแชมป์ส่งออกข้าวในแง่มูลค่านั้น TDRI พบว่า แม้ประเทศไทยจะสามารถตั้งราคาขายข้าวได้สูงขึ้นจริง โดยเฉพาะข้าวขาว 5% มีราคาสูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามและอินเดีย แต่ส่วนแบ่งตลาดของข้าวขาวไทยกลับลดลง จากข้อมูลของ International Trade Center (ITC) และของเวียดนาม เปรียบเทียบให้เห็นได้ชัดเจนว่า "มูลค่าข้าวของไทยนั้นไม่ได้สูงกว่าของประเทศอื่น"

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยชี้ให้เห็นว่า การส่งออกข้าวไทยลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ โดยปี 2554/55 (ตั้งแต่เริ่มจำนำข้าว ต.ค. 54-ก.ย. 55) มูลค่าการส่งออกข้าวรวมทุกชนิดอยู่ที่ 1.43 แสนล้านบาท ปริมาณ 6.7 ล้านตัน จากปี 2552/53 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท ปริมาณ 8.32 ล้านตัน และปี 2553/54 มูลค่าอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท ปริมาณ 12.13 ล้านตัน

โดยเฉพาะกรณีการส่งออกข้าวขาวปี 2554/55 มีมูลค่าอยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ปริมาณ 4.72 ล้านตัน จากปี 2552/53 มีมูลค่าอยู่ที่ 9.6 หมื่นล้านบาท ปริมาณ 5.86 ล้านตัน และปี 2553/54 มูลค่าอยู่ที่ 1.46 แสนล้านบาท ปริมาณ 9.37 ล้านตัน

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเสียแชมป์แน่ แต่สิ่งที่รัฐบาลประสบความสำเร็จก็คือ "การทำให้ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก" โดยราคาข้าวเปลือกภายในสูงขึ้นแน่นอนตามนโยบายรับจำนำทุกเมล็ดในราคาสูง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้นกว่าช่วง 2 ปีก่อน ส่วนหนึ่งมีการเก็งกำไร ขณะที่ข้าวสาร (เจ้า) ราคายังทรงตัวอยู่ที่กว่า 22 บาท/กิโลกรัมเล็กน้อย

ทั้งนี้ จากตัวเลขด้านอุปทานตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ขายข้าวช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2553 ซึ่งจะเป็นตัวเลขขายข้าวในปี 2554 มีจำนวน 1.55 ล้านตัน ในปีดังกล่าวมีผลผลิตออกมา 23.13 ล้านตัน และมีข้าวในมือโรงสีเล็กน้อย 5.5 แสนตัน รวมทั้งหมด 25.23 ล้านตัน ส่วนด้านอุปสงค์ มีการนำไปบริโภคและทำพันธุ์ประมาณ 10.67 ล้านตัน ขณะที่รัฐบาลเริ่มรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 โดยในช่วง 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 54) มีปริมาณ 2.97 ล้านตัน (น้ำท่วม) และส่งออกอีก 10.8 ล้านตัน รวมแล้ว 24.44 ล้านตัน ส่งผลให้มีข้าวเหลือประมาณ 7.9 แสนตัน

ขณะที่ปี 2555 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงว่า รัฐบาลขายข้าว 1.46 ล้านตัน มีผลผลิต 20.46 ล้านตัน มีข้าวในมือโรงสี 1.49 ล้านตัน (มาจากการเข้าโครงการแล้วรัฐบาลจ่ายค่าจ้างสี ค่ากระสอบ ค่าขนส่งเป็นข้าว) รวมกับข้าวที่เหลือในปี 2554 ทำให้มีปริมาณทั้งสิ้น 24.20 ล้านตัน ส่วนด้านอุปสงค์มีการบริโภคและทำพันธุ์ 8.26 ล้านตัน จำนำ (ต.ค.-ธ.ค. 55) 9.41 ล้านตัน ส่งออก 4.51 ล้านตัน รวมแล้ว 22.18 ล้านตัน ทำให้มีข้าวเหลือ 2.02 ล้านตันในตลาดในจำนวนข้าวที่เหลือกว่า 2 ล้านตัน ที่สำคัญคือ 1.49 ล้านตันอยู่ในมือโรงสี และอีกบางส่วนมาจากข้าวต่างประเทศ ซึ่งที่รัฐบาลบอกว่า จะขายข้าวเพื่อนำเงินมาใช้คืน ธ.ก.ส.อีก 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะได้มาจากการขายข้าวในประเทศ ขณะเดียวกันยังมีข้าวธงฟ้าที่รัฐบาลให้เอกชนบรรจุถุง มีค่าบรรจุประมาณ 26 บาทต่อถุง ซึ่งจะจ่ายเป็นข้าวอีกเช่นกัน

ถามว่ามีใครไปตรวจหรือเปล่าว่าข้าวธงฟ้า 5-6 แสนตัน ออกมาหรือไม่

3) TDRI พบว่า วงเงินงบประมาณของโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐแจ้งไว้ 359,160 ล้านบาทนั้นยัง "ต่ำกว่า" รายจ่ายจริงของโครงการ เพราะเป็นวงเงินที่จ่ายไปเพื่อการรับจำนำเท่านั้น แต่โครงการจำนำยังมี "ค่าใช้จ่าย" อื่น ๆ อีกมากที่แฝงอยู่ (คำนวณจาก ณ ปริมาณรับจำนำ 20 ล้านตัน เก็บรักษาข้าวไม่เกิน 2 ปี และกรณีสามารถระบายข้าวได้หมดในปี 2556) ประกอบด้วย รายจ่ายที่เกิดขึ้นทันทีที่รัฐบาลเริ่มโครงการ คือ ค่าสีแปรสภาพ ค่ากระสอบ และค่าขนส่งข้าวเข้าโกดัง ค่าเซอร์เวเยอร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท (จ่ายเป็นข้าว)

รายจ่ายจากการเก็บรักษาข้าว ทั้งค่าเช่าโกดังและรมยา ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเสื่อมราคาของข้าวอีกกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท และผลขาดทุนเมื่อมีการขายข้าวในสต๊อกอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะแปรผกผันกับราคาตลาดโลก หรือราคาที่รัฐสามารถประมูลข้าวได้

ดังนั้น เมื่อรวมแล้วค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลไม่ได้แจ้งทั้งหมดจะอยู่ที่กว่า 172,901 ล้านบาท (ขาดทุนประมาณ 8,221 บาท/ตันข้าวเปลือก) ทำให้ที่สุดแล้วการใช้เงินในโครงการควรเป็นกว่า 4.48 แสนล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถระบายข้าวให้หมดภายในปี 2556 จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายการเก็บและผลขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะส่งผลกระทบต่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : วิพากษ์เอกสาร รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว TDRI ข้อมูลไม่ครบ หมกค่าใช้จ่าย ขาดทุนแสนล้าน

view