สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอ็มโอยู ขายข้าวให้จีนพิธีการที่ไร้ข้อผูกพัน

จาก โพสต์ทูเดย์

จรดปากกาลงนามไปแล้ว สำหรับ “บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย

โดย...จตุพล สันตะกิจ

กับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวทวิภาคี” ที่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และ Chen Deming รมว.พาณิชย์จีน ร่วมลงนามกันไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ที่มาที่ไปของบันทึกความเข้าใจฯ (เอ็มโอยู) ฉบับนี้ มีเส้นทางที่ชวนให้ต้องขบคิดไม่น้อย

นั่นเพราะเดิมทีร่างเอ็มโอยูซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ถูกทำคลอดโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2555

บุญทรง เสนอร่างเอ็มโอยูฉบับนี้ให้ ครม.พิจารณาเป็นวาระจร 2 และวันนั้นเป็นวันที่ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ติดภารกิจในต่างประเทศ โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ครม.แทนนายกฯ ยิ่งลักษณ์

แต่ใช่ว่ารองนายกฯ เฉลิม จะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปง่ายๆ เพราะได้ซักไซ้ไล่เลียงว่า เหตุใดกระทรวงพาณิชย์ต้องรีบเร่งนำเสนอร่างเอ็มโอยูซื้อขายข้าว ทั้งๆ ที่นายกฯ ไม่อยู่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้คำตอบว่า นายกฯ เวินเจียเป่า ของจีน จะเดินทางมาไทยช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ จึงต้องรีบเร่งเสนอร่างเอ็มโอยูให้ ครม.อนุมัติ

บุญทรงยังขอให้ อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. “ตีตรา” ร่างเอ็มโอยูอยู่ในชั้นความลับ

แต่สาระสำคัญร่างเอ็มโอยูซื้อขายข้าวไทยจีน ก็เล็ดลอดออกมาจนได้ เนื้อหาใจความสรุปว่า รัฐบาลไทยตกลงที่จะขายข้าวให้รัฐบาลจีนไม่เกิน 5 ล้านตันต่อปี เป็นเวลา 3 ปี หรือปี 2556-2558

และบุญทรง ยืนยันใน ครม.ว่า การซื้อขายข้าวจีทูจีตามร่างเอ็มโอยู “จะไม่ซื้อขายผ่านนายหน้า หรือบริษัทเอกชน”

เมื่อพลิกไปดูเนื้อหา “ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวทวิภาคี” ฉบับที่ ครม.อนุมัติวันที่ 6 พ.ย. มีใจความว่า...

“ข้อ 1 รัฐบาลไทยตกลงที่จะขายและรัฐบาลจีนตกลงที่จะซื้อข้าวไทยปริมาณไม่เกิน 5 ล้านตันต่อปี ระหว่างปี 2556-2558 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตข้าวของแต่ละประเทศ และระดับราคาซื้อขายในตลาดโลก

ข้อ 2 การทำข้อตกลงซื้อขายข้าว ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะลงนามร่วมกัน จะเป็นไปตามหลักปฏิบัติการค้าระหว่างประเทศ...

หากมีการเซ็นสัญญาเอ็มโอยูฉบับนี้เมื่อใด เท่ากับว่ารัฐบาลจีนจะต้อง “ซื้อข้าวไทย” ตามข้อผูกพันที่กำหนดไว้ในเอ็มโอยู แม้ว่าการทำสัญญาซื้อขายข้าว “จริง” และการส่งมอบข้าวสาร ตลอดทั้งปีจะปริมาณไม่ถึง 5 ล้านตันก็ตาม

แต่ก็เปิดช่องให้รัฐบาลไทยขายข้าวให้จีนได้ จากปัจจุบันที่จีนแทบไม่ได้นำเข้าข้าวจากไทยเลย

โดย 9 เดือนแรกปีนี้ กรมศุลกากรของจีน (CGA) ระบุว่า จีนนำเข้าข้าว 1.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 285.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และทั้งหมดเป็นการนำเข้าข้าวเวียดนาม กัมพูชา และพม่า เพราะราคาข้าวของประเทศเหล่านี้มีราคาถูกกว่าข้าวไทยเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉพาะข้าวขาว

แต่จนแล้วจนรอด เมื่อกรมการค้าต่างประเทศส่งร่างเอ็มโอยูฉบับวันที่ 6 พ.ย. ไปให้รัฐบาลจีนพิจารณา เนื้อหาร่างเอ็มโอยูต้องเปลี่ยนจาก “หน้ามือเป็นหลังมือ” เพราะร่างเอ็มโอยูซื้อขายข้าวถูกเปลี่ยนเนื้อหาจนแทบจำไม่ได้

จากนั้นบุญทรง รายงาน กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง เพื่อลงนามเสนอร่างเอ็มโอยูซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ฉบับที่จีนเสนอ “ปรับเนื้อหา” เข้าสู่การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 ก่อนเสนอให้ ครม.ให้ความเห็นชอบร่างเอ็มโอยูอีกครั้ง ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 และการประชุม ครม.วันนั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ ไม่ได้นั่งหัวโต๊ะ ครม.เช่นเดิม

“ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าวทวิภาคี” ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 2555 ที่ ครม.อนุมัติให้ปรับปรุงใหม่ และมีการลงนามในวันที่ 21 พ.ย.นั้น มีเนื้อหาว่า

“...ข้อ 1 คู่ภาคีมีความยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาการค้าข้าวทวิภาคีให้เป็นไปอย่างดี และมั่นคงบนพื้นฐานของการหารือร่วมกันฉันมิตร การพึ่งพาอาศัย และผลประโยชน์ร่วมกัน

ข้อ 2 คู่ภาคีตกลงที่จะสร้างบรรยากาศความร่วมมือที่มีเสถียรภาพ เป็นธรรมและโปร่งใส สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทุกรูปแบบในภาคของการค้าข้าว โดยให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ และเป็นไปตามหลักปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หมายความรวมถึงจะส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทุก รูปแบบ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าข้าว และเพิ่มการนำเข้าจากไทยให้มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อ 3 คู่ภาคีจะส่งเสริมสนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนทุกรูปแบบในการ ผลักดันการค้าข้าวแบบทวิภาคี และแสวงหาตลาดข้าวระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ของตลาด ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนของแต่ ละประเทศ ให้มีการจัดการและแก้ปัญหาทางธุรกิจในด้านการค้าข้าวอย่างเหมาะสมบนพื้นฐาน ของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน และสอดคล้องกับสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ...”

เมื่อนำร่างเอ็มโอยูฉบับเดิมและฉบับที่แก้ไขแล้วมาพิเคราะห์เปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ว่าร่างเอ็มโอยูที่จีนให้แก้ไข ไม่มีการ “ผูกมัด” ว่ารัฐบาลจีนจะซื้อข้าวจากไทย แต่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าข้าวระหว่าง “รัฐวิสาหกิจ” และ “บริษัทเอกชนทุกรูปแบบ” บนพื้นฐาน “กฎเกณฑ์การตลาด”

และมีประโยคที่สำคัญ คือ “...ความร่วมมือทางการค้าข้าวและการเพิ่มการนำเข้าข้าวจากไทยให้มากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้...”

ถ้อยคำเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวโดยตรงจากรัฐบาลไทย แม้ว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนจะได้มีการลงนามเอ็มโอยูข้าวระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีนก็ตาม

เพราะการซื้อขาย หรือทำสัญญาซื้อขายจริง จนกระทั่งส่งมอบข้าวไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลผูกพันกับรัฐบาลจีน

ฉะนั้น การลงนามเอ็มโอยูข้าวฉบับวันที่ 20 พ.ย.นี้ น่าจะเข้าลักษณะ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” มากกว่า

ขณะเดียวกัน การที่บุญทรง ยืนยันหนักแน่นใน ครม.ว่า การซื้อขายข้าวระหว่างไทยและจีนจะมีเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เอ็มโอยูข้าวฉบับใหม่ถูก “ปรับปรุง” จนไม่เห็นเค้าเดิม อาจเปรียบเสมือน “น้ำกลิ้งบนในบัว”

หมายความว่า การขายข้าวของรัฐบาลไทยให้กับจีนไม่รู้จะออกมาในรูปใด ทั้งแง่ปริมาณและราคา เพราะสถานการณ์ข้าวในปัจจุบันต้องถือว่า “ผู้ซื้อ” มีอำนาจต่อรองมากกว่า เพราะจีนที่สามารถหาข้าวราคาถูกๆ และคุณภาพดีพอสม ควรหาซื้อได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวราคาแพงๆ จากไทย

“International Traders รายงานราคาเปรียบเทียบข้าวขาว 5% ของไทยเทียบกับข้าวขาว 5% ของประเทศต่างๆ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. พบว่า ข้าวไทยมีราคา 582 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวเวียดนาม 460 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวอินเดีย 435 เหรียญสหรัฐต่อตัน และข้าวปากีสถาน 435 เหรียญสหรัฐต่อตัน” รายงานข่าวระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น เอ็มโอยูที่ว่านี้ แสดงให้เห็นว่าข้าวไทยที่ส่งไปขายในจีนไม่มี “แต้มต่อ” เพราะเอ็มโอยูระบุชัดว่า การค้าข้าวขอให้เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่จะไปค้าขายกัน เอง และการซื้อขายให้ไปตามราคาตลาด

การระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลในปริมาณมากๆ และราคาที่ “ดี” โดยอาศัยเอ็มโอยูข้าวไทยจีน จึงเป็นไปได้ยาก และจะสร้างความหนักใจให้บุญทรงและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่น้อย

วันนี้บาดแผลการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลโผล่ขึ้นมา ให้เห็นแล้ว เพราะ ครม.เมื่อวันที่ 20 พ.ย. มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กู้ยืมมาใช้ในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล 113,798 ล้านบาท

เงินกู้จำนวนนี้เป็นเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/2555 และสินค้าเกษตรอื่นๆ สูงถึง 96,250 ล้านบาท

นี่อาจเป็นหลักฐานที่ชี้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลต้องนำเงินภาษีประชาชนเกือบแสนล้านบาทมาจ่ายหนี้สิน ที่ต้องขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเพียงปีเดียวเท่านั้น ไม่นับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 ที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลเช่นกัน

“ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด” จริงๆ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : เอ็มโอยู ขายข้าว จีน พิธีการ ไร้ข้อผูกพัน

view