สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

INNOVATION หรือนวัตกรรมคืออะไร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องเล่าซีอีโอ

โดย ศุภชัย เจียรวนนท์


"ทรู คอร์ปอเรชั่น" ทุกท่านคงทราบดีว่า เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารนะครับ เป็นบริษัทที่ทำเรื่องอินเทอร์เน็ต มือถือ และก็ทีวี จุดเริ่มต้นของทรู คอร์ปอเรชั่น เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน โดยบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือที่เรารู้จักกันในนาม "ซีพี"

คุณพ่อและคุณลุงผมเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ถือเป็นรุ่นที่ 2 เพราะมีคุณปู่ก่อตั้งบริษัทเจียไต๋ แล้วเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็แยกออกมาโดยคุณลุงและคุณพ่อ มาตั้งเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์

ในสมัยนั้นคุณลุงกับคุณพ่อตั้งกฎเอา ไว้ว่า ถ้าลูกหลานจะเข้ามาทำงานต่อต้องทำเรื่องใหม่เท่านั้น เรื่องที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ทำได้ดีอยู่แล้ว และมืออาชีพที่ทำงานอยู่ทำได้เต็มประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว ไม่อยากให้ลูกหลานเข้ามา ถ้าไม่มีอะไรใหม่ในเครือ คือพูดง่าย ๆ ว่า ไปหาอะไรทำเองจะดีที่สุด อันนี้เป็นแนวนโยบายเลย และสิ่งที่เรายึดถือในการดำเนินธุรกิจมี 3 เรื่องด้วยกัน

คุณพ่อเคย เล่าว่า คุณปู่ตอนเริ่มต้นธุรกิจขายเมล็ดพันธุ์พืชที่ "เจียไต๋" คุณปู่ เป็นคนแรก ๆ เกือบจะเรียกว่าเป็นคนแรกก็ว่าได้ที่เอาเมล็ดพันธุ์ใส่ซองกระดาษแล้วเขียน วันหมดอายุ

การเขียนวันหมดอายุ หมายความว่า ทำธุรกิจต้องมีคุณธรรม ถ้าไม่เขียนวันหมดอายุ เกษตรกรที่ซื้อไปแล้วปลูกไม่ขึ้น เขาเดินทางมาตั้งไกล เอาเมล็ดพันธุ์กลับไปแล้วใช้ไม่ได้ ปลูกไม่ขึ้น ถือเป็นการทำการค้าแบบไม่มีคุณธรรม ไม่ซื่อตรง นี่คือข้อแรกที่เรายึดถือ

ข้อ ที่ 2 ที่คุณพ่อเล่า คุณปู่เป็นคนแรกอีกเหมือนกันในสมัยนั้นที่เริ่มเอาเมล็ดพันธุ์ที่ขายใส่ กระป๋อง สมัยนั้นก็สัก 70-80 ปีมาแล้ว ใส่กระป๋องเพื่ออะไร ก็เพื่อรักษาคุณภาพ สิ่งที่ตามมาจากเรื่องคุณธรรม คือ การริเริ่มทำ innovation หรือนวัตกรรม

ข้อที่ 3 คุณพ่อจะสอนตั้งแต่ยังเด็ก ท่านบอกว่า ถ้าวันนี้เราเอาเวลาไปเที่ยวเล่น ไปบันเทิง ตนเองทำให้ตนเองสนุกสนานไปวัน ๆ พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาวันที่ผ่านไปก็เป็นความฝัน คือมีอยู่แต่ในความทรงจำ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ถ้าเราเอาวันนี้ไปปลูกต้นไม้ พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาต้นไม้ต้นนั้นก็โตขึ้น หลักที่ท่านสอนคือ อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้รู้จักสร้างคุณค่าอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แนวทางของเครือ

เจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่นจึงยืนพื้นอยู่บน 3 เรื่อง 1.คุณธรรม 2.ริเริ่มทำสิ่งใหม่ และ 3.สร้างคุณค่าอย่าง
ต่อ เนื่องไม่มีวันจบ ในที่นี้ผมอยากพูดถึงคำว่า "นวัตกรรม" ในความเข้าใจของผม นวัตกรรมหมายถึง "การทำสิ่งใหม่ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ หรือคุณค่าที่มากกว่าเดิม" หรือกล่าวสั้น ๆ ได้ว่า นวัตกรรมคือ "การสร้างคุณค่า"

ทั้งนี้ พื้นฐานที่สำคัญของนวัตกรรม คือ "จินตนาการ" หากปราศจากจินตนาการเราคงยากที่จะทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม และเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่มีเพียงจินตนาการ คงยังไม่พอที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม

การทำสิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนวัตกรรมมักมาคู่กับการบริหารความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะถ้าเราต้องทำนวัตกรรมร่วมกับคนทั้งองค์กร ตลอดจนถึงความยอมรับของสังคม

ในคำว่า "ใหม่" หมายถึง ไม่เหมือนเดิม ไม่เคยทำมาก่อน เคยมีคนพยายามแต่ทำไม่สำเร็จ และอีกหลายความหมาย รวมถึงความยากที่จะทำให้คนเข้าใจ ยอมรับและมีศรัทธา เพียงพอที่จะทำให้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่สิ่งใหม่ ๆ ก็จะมาพร้อมกับโอกาสที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ดังนั้น ที่จะขาดไม่ได้นอกเหนือจากจินตนาการ คือ "ความมุ่งมั่น" หรือหลายคนเรียกมันว่า "แรงบันดาลใจ" ที่จะขับเคลื่อนและก้าวผ่านอุปสรรคทั้งปวง

หลายครั้งที่อุปสรรคของ การสร้างนวัตกรรมในองค์กร เกิดจาก "ego" ทั้งนี้ ego แปลโดย dictionary แปลว่า "ความถือตัวเองเป็นสำคัญ" หรือตามพุทธศาสนา เรียกว่า "อัตตา" ทั้ง ego ของผู้คิดค้นว่า ตัวนั้นฉลาดหลักแหลมที่สุดแล้ว ทั้ง ego ของผู้ปฏิบัติว่า ปฏิบัติและคิดมาดีแล้ว ทำมาของเดิมดีอยู่แล้ว โดยทั้งสองฝ่ายไม่ได้คำนึงถึงองค์กรหรือลูกค้ามากกว่าความสำเร็จและ ศักดิ์ศรีของตนเป็นหลัก

ดังนั้น สิ่งสำคัญอันที่ 3 ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรได้ จึงเป็นเรื่องของ "ทัศนคติ และพฤติกรรมขององค์กร"
องค์กร ที่จะสร้างและทำเรื่องใหม่ ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา จะต้องเป็นองค์กรที่เปิดกว้างในแง่ความคิดและวิธีใหม่ ๆ เป็นองค์กรที่ share ข้อมูล เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อจินตนาการ ความคิดใหม่ ๆ วิธีใหม่ ๆ

และสร้างแรงจูงใจอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งสร้างระบบและขั้นตอน หรือ process ที่จะส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนรู้ขององค์กร การพัฒนาความคิด หรือทัศนคติที่ subjective เปลี่ยนเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นกระบวนการมากขึ้น ให้เกียรติและเล็งเห็นคุณค่าต่อทั้งผู้คิดและผู้ปฏิบัติ

ความ ยั่งยืนขององค์กรนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างคุณค่าอย่างต่อเนื่อง นั้น หมายถึงความสามารถในการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงพูดได้ว่าองค์กรใดไม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรม ย่อมเป็นองค์กรไม่ยั่งยืน เพราะไม่สามารถปรับตัวและสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ให้ตลาด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจ ถ้ามองในภาพใหญ่ขึ้นไปอีก ประเทศก็ไม่ต่างอะไรจากองค์กร การเป็นสังคมที่เปิดกว้างในทางสร้างสรรค์ การสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการค้นคว้าวิจัย การปกป้องลิขสิทธิ์ และเพิ่มจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างพื้นฐานในการ share และเข้าถึงความรู้ ข้อมูล การที่ประเทศให้ความสำคัญกับการสร้างค่านิยมต่อผู้ประดิษฐ์คิดค้น การสร้างแรงจูงใจต่อบุคคล ต่อสถาบัน ต่อบริษัท

การสร้างสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางกฎหมาย กองทุน ภาษี เช่น อาจารย์ที่ทำงานวิจัย ควรให้ทุนส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์ ทำไมไม่ลดภาษีส่วนบุคคล ทำไมไม่ส่งเสริมสถาบันวิจัยต่าง ๆ จากทั่วโลกมาตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในประเทศไทย โดยการให้ incentive และยังอีกมากมายหลายอย่างที่รัฐสามารถส่งเสริมต่อยอด "จินตนาการ" ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่าเราเป็นประเทศนวัตกรรม หรือที่หลายคนนิยมเรียกภาษาอังกฤษว่า "creative economy"

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจาก "คน"

"คน" จึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ต่อองค์กรเท่านั้น แต่ต่อประเทศของเราด้วย การสร้างคนที่มีศักยภาพ ย่อมหมายถึงการสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้นำไม่เข้าใจว่า พื้นฐานของความสร้างสรรค์เกิดจากการมี "จินตนาการ" และ "แรงบันดาลใจ"

ผู้ นำในที่นี้หมายถึง "ผู้ใหญ่กว่า" เช่น ถ้าเป็นครอบครัว ผู้นำก็คือ คุณพ่อคุณแม่ ถ้าเป็นโรงเรียน ผู้นำก็คือ คุณครู (นำนักเรียน) ถ้าเป็นบริษัท ก็เป็นผู้นำองค์กรในระดับต่าง ๆ คือผู้ที่มีลูกน้องทั้งหมด ถ้าเป็นสังคมหรือประเทศ ก็เป็นผู้นำของประเทศและสังคม

ถ้า "ผู้นำ" ตระหนักว่าการเป็นผู้นำไม่ใช่การเป็นผู้ที่ฉลาดและสำเร็จที่สุด แต่เป็นผู้ที่สร้างคนที่ฉลาดและสำเร็จกว่าตน ผู้นำย่อมตระหนักว่า ตัวเองมีหน้าที่สำคัญที่สุด 2 อย่าง คือ สร้างหรือส่งเสริมให้คน (ลูก, ลูกน้อง, องค์กร) มี "จินตนาการ" กล้าคิด กล้าทำในทางที่ถูกต้องยั่งยืน และความกล้าในการเปลี่ยนแปลง

สร้างที่ 2 คือ สร้างแรงบันดาลใจ โดยการเสียสละทุ่มเทในการสร้างคุณค่าอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงจูงใจ ทำอย่างไรให้เด็ก ลูกน้อง องค์กร ประชาชน ได้นำเอาศักยภาพของเขาออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ให้เขาได้ออกความคิดเห็นมีส่วนร่วม และสร้างหรือมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าใหม่ ๆ ได้สำเร็จ เพื่อให้แก่ครอบครัว องค์กร และสังคม อย่างยั่งยืนและภาคภูมิใจ

สุดท้ายเราลองหลับตาพร้อมกัน แล้วลอง "จินตนาการ" ดูว่า เราอยากเห็นสังคมของเรา โลกของเราเป็นอย่างไร ?


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : INNOVATION นวัตกรรม

view