สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกระอุศึกนี้ มะกัน หวังงัดสกัด จีน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลายเป็นประเด็นที่ต้องยอมรับกันแล้วว่า ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศที่มาแรงที่สุด และเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมากที่สุด ณ วินาทีนี้ย่อมหนีไม่พ้น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่เรียกชื่อย่อกันติดปากว่า ทีพีพี (TransPacific Strategic Economic Partnership Agreement) ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันกับที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย เตรียมจะเข้าร่วมการเจรจาในโอกาสที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงสุดสัปดาห์นี้

เหตุผลก็เพราะทีพีพีคือข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ ที่ได้รับการอุ้มชูสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าจากป๋าดันผู้ทรงอิทธิพลอันดับ หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

เพราะเชื่อว่าข้อตกลงทีพีพีคือการกรุยทางเปิดประตูสู่เขตการค้าเสรีแนว ใหม่ ที่จะเชื่อมโยงโอบล้อมประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด ซึ่งท้ายที่สุดน่าจะช่วยกระตุ้นการค้าของโลกขึ้นถึง 12%

และเพราะทีพีพีถือเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐที่จะหวนคืนผูกมิตรภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก และอาจถือเป็นไม้ตายหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้สหรัฐช่วงชิงอิทธิพล และกดดันฐานะมหาอำนาจอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียของจีนลงได้บ้าง

ทั้งนี้ หากพลิกประวัติฟื้นปูมของข้อตกลงทีพีพีนี้ จะเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับการเอ่ยถึงสักเท่าไรนัก โดยทีพีพีมีจุดเริ่มต้นจากขอบเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย–แปซิฟิก (เอเปก) ที่เม็กซิโก เมื่อปี 2545 ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่เข้าร่วมคือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และชิลี ก่อนที่บรูไนจะตามมาสมทบเป็นชาติสมาชิกที่ 4 ในปี 2548

กระนั้น ทีพีพีก็ยังไม่มีบทบาทสำคัญและไม่ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกในกลุ่มเอ เปกสักเท่าไรนัก จนกระทั่งในปี 2551 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐในขณะนั้นประกาศเข้าร่วมการเจรจาอย่างเต็มที่ ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบามาจะผลักดันข้อตกลงทีพีพีอย่างมุ่งมั่นจริงจัง

ผลจากการประกาศจุดยืนของสหรัฐในครั้งนั้น ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกต่างรับรู้ถึงการมีอยู่ของทีพีพี และตบเท้าขอเข้าร่วมมีเอี่ยวด้วยกันอย่างคึกคัก ไล่เรียงตั้งแต่ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา ขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อยู่ในขั้นของการเจรจาเข้าร่วม โดยมีชาติล่าสุดเช่น ประเทศไทย ที่เพิ่งจะประกาศจุดยืนขอร่วมด้วยอย่างสดๆ ร้อนๆ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากจะพูดว่า ชื่อของทีพีพีติดหูติดตลาดขึ้นมาได้ก็เพราะมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกขอลงมาเกี่ยวดองด้วยก็คงไม่ผิดนัก

ทว่า แม้จะทำให้ทีพีพีได้รับความสนใจและแรงเชียร์ไม่น้อยจากนักลงทุนเกือบค่อนโลก ซึ่งมองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงทางการค้าเสรีระดับพหุภาคีที่มีความ สมบูรณ์แบบ และตอบสนองต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

แต่ขณะเดียวกัน ท่าทีกระตือรือร้นของสหรัฐที่มีต่อทีพีพีก็ส่งผลให้นักวิเคราะห์และนักลงทุน อีกส่วนหนึ่งไม่วายตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นผลจากการที่ทีพีพีอาจเป็นไพ่ตายเพียงหนึ่งเดียวที่สหรัฐมีอยู่ใน มือ เพื่อช่วยเศรษฐกิจแดนลุงแซมให้ฟื้นจากความเสียหายจากวิกฤตการเงินและสภาวะ เศรษฐกิจซบเซาอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้

เรียกได้ว่า สหรัฐอยู่ในสภาพที่มีแต่ฝุ่นซุกอยู่ในพรมเต็มไปหมด และไม่อาจอยู่นิ่งเฉยโดยไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างได้ ซึ่งแน่นอนว่า อะไรสักอย่างที่ว่าก็คือการเดินหน้ากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า การลงทุน และการแข่งขัน โดยหนึ่งในหนทางสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐจะยื่นมือช่วยภาคธุรกิจได้ก็คือผ่านการ เจรจาทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐเดินหน้ากำหนดกรอบเจรจาและข้อตกลงในระดับพหุภาคีมากมาย เช่นกับกลุ่มเอเปก หรือกับเวทีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งรู้จักกันดีในนามการประชุมรอบโดฮา

กระนั้น กรอบการพูดคุยทั้งหมดก็ไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากมีเหตุให้ต้องติดขัดหยุดชะงัก เข้าทำนองมากคนก็มากความ

อย่างไรก็ตาม ครั้นสหรัฐจะมาลุยทำข้อตกลงในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ดีจนพอฝากความหวังไว้ได้ ผลปรากฏว่าด้วยความที่ห่างหายไปนาน สหรัฐในทุกวันนี้ได้สูญเสียพื้นที่อำนาจและอิทธิพลให้กับจีนไปค่อนข้างเรียบ ร้อยแล้ว

ล่าสุด นอกจากจีนมีจะมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ในเอเชียเรียบร้อยแล้ว จีนยังเดินหน้าก้าวไปถึงขั้นที่จะดำเนินการข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนความร่วม มือทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (อาร์ซีอีพี : Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยรวม 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กับอีก 6 ชาติเศรษฐกิจสำคัญของเอเชีย อย่าง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ไม่มีสหรัฐ

สถานการณ์ข้างต้นส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า การที่สหรัฐจะก้าวเข้าไปเพื่อทวงคืนพื้นที่ของตนเองในภูมิภาคย่อมไม่ใช่ เรื่องง่ายหากไม่มีข้ออ้างที่ดีเพียงพอ

และข้อตกลงทีพีพีก็นับเป็นข้ออ้างที่ดีที่สุด โดยมีพื้นที่การค้าที่มีมูลค่า 28% ของจีดีพีโลกเป็นเดิมพัน ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า หากสหรัฐสามารถอาศัยทีพีพีเป็นประตูก้าวเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแห่ง นี้ได้ สหรัฐจะมีโอกาสในส่วนแบ่งของเค้กก้อนโต ที่เป็นทั้งตลาดค้าขายสินค้า ตลาดการลงทุน ตลาดรองรับการส่งออก ที่ในท้ายที่สุดจะหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐเอง

นอกจากนี้ ทีพีพี ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้สหรัฐได้คานอำนาจทางเศรษฐกิจกับจีนในภูมิภาค แห่งนี้ไว้ เช่นเดียวกันกับการใช้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สหรัฐจะใช้กดดันจีน

ทั้งนี้ เมื่อพินิจพิเคราะห์รายละเอียดของกรอบการเจรจาทีพีพีแล้วจะเห็นได้ว่า เงื่อนไขแต่ละข้อนั้นต่างเน้นที่หลักการคุณภาพสูง คือเปิดเผย (สำหรับทุน) เสรี (ไม่มีการกีดกันการค้า) โปร่งใส (ไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน) และเป็นธรรม (คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน และสิ่งแวดล้อม) ซึ่งบางข้อบางประการเป็นสิ่งที่จีนยังไม่อาจจัดการได้เต็มที่สักเท่าไรนัก

ด้านประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐเคยยอมรับเช่นกันว่า การเดินหน้าสานความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยไม่มีจีนรวมอยู่ด้วยนั้น จะทำให้จีนเริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฎิบัติตามบรรทัด ฐานการค้าโลก

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ต้องบอกว่า ทีพีพีของสหรัฐคราวนี้ นอกจากจะไว้ใช้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจของแดนลุงแซมแล้ว ยังใช้เป็นอาวุธสกัดดาวรุ่งของแผนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ นักวิเคราะห์เกือบค่อนโลกยังคงไม่มั่นใจว่ากรอบการเจรจาของทีพีพีจะสัมฤทธิ ผลตามที่สหรัฐตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ เนื่องจากเพิ่งจะอยู่ในขั้นตอนของการเริ่มต้นเกริ่นนำเท่านั้น

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขสุดยอดมาตรฐานคุณภาพล้นแก้วแล้ว ก็ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มีความเป็นไปได้สูงมากทีเดียวที่ทีพีพีของสหรัฐจะชะงักหรือสะดุดได้ง่ายๆ

ประเด็นตัวอย่างที่จะยกขึ้นมาได้ คือ กรณีทรัพย์สินทางปัญญา ที่หลายๆ ประเทศ เช่น เวียดนาม หรือเม็กซิโก หรือแม้กระทั่งไทย ที่กำลังจะเข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้ยากที่จะทำตามได้

และนับเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นว่า เพียงพอแล้วที่จะทำให้ทีพีพีของสหรัฐอาจต้องจอดตั้งแต่ยังไม่ทันได้สตาร์ต เครื่อง!


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ค้าเสรี เอเชีย แปซิฟิก ระอุ มะกัน สกัด จีน

view