จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
พงศ์พล (ขวา) โชว์หน้ากากอนามัยที่ผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุด
หลังจากพบว่าสารสกัดจากเปลือก มังคุดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาได้ และกระแสความนิยมใช้หน้ากากอนามัยในช่วง 2-3 ปีก่อน จึงนำไปสู่การพัฒนาหน้ากากผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุดเพื่อป้องกันการระบาด ของโรคติดต่อจากระบบทางเดินหายใจ และพร้อมจำหน่ายในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยญี่ปุ่นและสิงคโปร์แสดงความสนใจในผลงานไทยนี้ด้วย
พงศ์พล เอกบุตร นักศึกษาปริญญาเอก จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ร่วมกับ ศ.ดร.พิชญ์ ศุภผล หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัยผสมสารสักดจากเปลือกมังคุด บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า หลังจากนักวิจัยจุฬาฯ ได้ค้นพบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุดนั้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา บางตัวได้ จึงได้เกิดความคิดที่จะนำสารสกัดดังกล่าวมาใช้ประโยชน์
เดิมพงศ์พลทำวิจัยหลักเกี่ยวกับวัสดุปิดแผลอยู่แล้ว จึงลองผสมสารสกัดจากเปลือกมังคุดในเส้นใยนาโนเพื่อผลิตวัสดุปิดแผลเพื่อให้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ แต่กว่าที่จะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาใช้ต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นวัสดุทางการแพทย์จึงต้องผ่านการทดสอบเป็นเวลานาน และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมามีกระแสความนิยมใช้หน้ากากอนามัยจึงได้จุดประกายความคิดในการผสม ใช้กับหน้ากากอนามัย
อีกทั้งวัณโรคยังติดต่อได้ง่ายผ่านการแพร่เชื้อทางการหายใจ ผลจากการทดสอบเมื่อหยดเชื้อวัณโรค 10,000 เซลล์ต่อสารละลาย 1 มิลลิลิตร ลงบนหน้ากากอนามัยที่มีสารสกัดเปลือกมังคุด พบว่าเชื้อครึ่งหนึ่งตายทันที แต่ตามมาตรฐานต้องทดสอบนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งพบว่าเชื้อตายทั้งหมด
นอกจากนี้พงศ์พลกล่าวว่าเมื่อเทียบกับอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่ใช้ผสม หน้ากากอนามัยเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้ว สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะการใช้ซิลเวอร์นาโนในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เซลล์ไหม้ได้ แต่ข้อเสียของหน้ากากผสมสารสกัดเปลือกมังคุดคือมีกลิ่นมังคุดอ่อนๆ คล้ายเปลือกไม้ โดยเปลือกมังคุดมีสารสำคัญเป็นยางสีเหลือง ทำให้หน้ากากที่ได้มีสีเหลืองด้วย
ตอนนี้หน้ากากอนามัยที่มีส่วนผสมของเปลือกมังคุดนี้จะพร้อมจำหน่ายใน อีก 2 เดือนข้างหน้า โดยพงศ์พลกล่าวว่าจุฬาฯ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังติดต่อภาคอุตสาหกรรมเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ซึ่งทางญี่ปุ่นและสิงคโปร์ก็แสดงความสนใจ
รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ