สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่าลืม แค กัน...เป็นทั้งอาหารและสมุนไพร - ดินดีสมเป็นนาสวน

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

บางคนอาจเคยเห็นแต่แคที่มีดอกสีขาว เพราะมีมานานแล้ว ส่วนแคดอกแดง อาจเพิ่งเคยเห็น อย่างไรก็ตาม บางคนก็เรียกง่าย ๆ เรียกแคดอกขาวว่า แคขาว เรียกแคดอกแดงว่า แคแดง ไม่ว่าจะเป็นแคขาวหรือแคแดง มันก็แคเหมือนกัน คือเรียกอีกอย่างว่า แคบ้าน เพราะมีอีกแคหนึ่งคือ แคฝรั่ง ที่เป็นไม้ประดับ แคบ้านมีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3-6 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ดอกสีขาวหรือแดง มีฝักด้วย  ฝักแก่แตกเป็น 2 ซีก เมล็ดกลมแป้น สีน้ำตาล มีหลายเมล็ด

นิยมนำดอกและยอดอ่อนมาลวกหรือต้ม สำหรับจิ้มกับน้ำพริก  นำไปแกงส้มก็อร่อยดีนะ ตอนเด็ก ๆ แม่ทำอาหารด้วยดอกแค แม่บอกว่ากินป้องกันเป็นไข้หัวลม นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่น ๆ ที่ทำด้วยดอกแค เช่น ดอกแคสอดไส้ แกงเหลืองปลากะพงดอกแค   เป็นต้น  เวลาลิ้นเป็นแผลเพราะร้อนใน แม่ก็บอกให้ไปถากเอาเปลือกต้นแคมาอมไว้ เห็นได้ชัดเจนว่า นอกจากเป็นอาหารแล้ว “แค” ยังเป็นสมุนไพรได้ด้วย

ในยอดแคมีสารอาหารมากกว่าดอกแค   ยอดแคปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 87 แคลอรี มีเส้นใย 7.8 กรัม แคลเซียม 395 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เหล็ก 4.1 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 8,654 ไมโครกรัม วิตามินเอ 1,442 ไมโครกรัม วิตามินบี1 0.28 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.33 มิลลิกรัม ไนอาซีน 2.0 มิลลิกรัม วิตามิซี 19 มิลลิกรัม

ดอกแคปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 33 แคลอรี แคลเซียม 2 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 57 มิลลิกรัม เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 0.51 ไมโครกรัม วิตามินบี1 0.09 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.19 มิลลิกรัม ไนอาซีน 0.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 35 มิลลิกรัม

มิใช่แค่เพียงที่กล่าวมาเท่านั้น สรรพคุณอื่น ๆ ยังมีอีก เช่น แก้มูกเลือด บิดมีตัว แก้ท้องเดิน ท้องร่วง คุมธาตุใช้เปลือกต้นปิ้งไฟ 1 ส่วน ต้มกับน้ำหรือน้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

แก้ไข้ ลดความร้อน แก้ไข้หัวลม (หรือไข้อากาศเปลี่ยน) ใบสด ต้มกับน้ำรับประทานลดไข้ ใช้ยอดอ่อนจำนวนไม่จำกัด ลวกจิ้มกับน้ำพริก รับประทานแก้ปวดศีรษะข้างเดียว     ใช้ดอกที่โตเต็มที่ล้างน้ำ ต้มกับหมูทำบะช่อ 1 ชาม รับประทาน 1 มื้อ รับประทานติดต่อกัน 3-7 วัน จะได้ผล   ยอดอ่อน ใบอ่อน ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ดอก มีรสหวานออกขมเล็กน้อย สรรพคุณแก้ไข้หัวลม เปลือกต้น มีรสฝาด รักษาอาการท้องเดิน แต่ถ้ากินมาก ๆ จะทำให้อาเจียนได้ ราก น้ำจากรากนำมาผสมกับน้ำผึ้ง เป็นยาขับเสมหะ    แก้ไข้หัวลม แก้ร้อนใน ใช้ยอดแคอ่อน ดอกแคไม่แกะไส้ แกง หรือลวกเป็นผักจิ้ม แก้ท้องเดิน  ใช้เปลือกต้นปิ้งไฟ ต้มกับน้ำ หรือน้ำปูนใส 10 ส่วน รับประทาน 1-2 ช้อนโต๊ะ    แก้แผลมีหนอง ใช้เปลือกต้นแคที่แก่ ๆ ตากแห้ง ฝนกับน้ำสะอาดหรือน้ำปูนใส ทาแผล เช้า-เย็น ก่อนทายาควรใช้น้ำต้มเปลือกแคล้างแผลก่อน จะช่วยให้แผลหายไวขึ้น ยาล้างแผล ใช้เปลือกแคต้มกับน้ำเดือดนาน 15 นาที เติมเกลือเล็กน้อย ใช้ล้างแผล วันละ 3 ครั้ง   แก้บิด แก้ท้องเสีย  ใช้เปลือกแค 2-3 ชิ้น ขนาดเท่าฝ่ามือ ต้มกับน้ำเดือดประมาณ 15 นาที โดยใช้น้ำ 2-3 ขัน ใช้หม้อดินต้ม กินยาขณะยังอุ่นอยู่ กิน 1-2 แก้ว วันละ 3 เวลา    แก้ฟกช้ำ ใช้ใบสดตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น ปวดฟัน รำมะนาด  ใช้เปลือกแคต้มใส่เกลือให้เค็มจัด นำมาอม ตานโขมย ใช้แคทั้งห้าอย่าง ๆ ละ 1 กำมือ ใส่น้ำท่วมยาต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที กินวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ช้อนโต๊ะ ประมาณครึ่งเดือน 

แคเป็นต้นไม้พื้นบ้าน เป็นต้นไม้เนื้ออ่อน ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทั้งดินเหนียวและดินปนทราย นิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน คันนา ริมถนน และในบริเวณบ้าน หรือปลูกไว้เพื่อปรับพื้นที่ให้มีปุ๋ย เพราะใบแคที่ผุแล้ว ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์  ดอกแค 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงานต่อร่างกาย 10 กิโลแคลอรี มีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และวิตามินซี การรับประทานดอกแคจะทำให้ร่างกายได้เส้นใยอาหาร ดอกแค เมื่อแก่จนกลีบร่วง ก็จะมีฝักอ่อน นำมาทำอาหารได้ เมื่อแก่จะแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตง่าย มีอายุไม่นาน ก็ยืนต้นตาย แพร่พันธุ์ด้วยฝักที่มีเมล็ดแก่จัด.
 

เธียพัฒน์ ศรชัย


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : อย่าลืม แค เป็นทั้งอาหาร สมุนไพร ดินดีสมเป็นนาสวน

view