สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิพากษ์ เชิงวิชาการ ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล

วิพากษ์"เชิงวิชาการ ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล

จากประชาชาติธุรกิจ

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม สถาบันคึกฤทธิ์ จัดเสวนาเชิงวิชาการ หัวข้อ "วิพากษ์ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล" ผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กก.ผจก.ด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และนายวีรไท สันติประภพ รองกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เป็นผู้ดำเนินรายการ

นิพนธ์ พัวพงศกร

ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

รัฐบาลชุดนี้เริ่มต้นตั้งแต่หาเสียงในขณะที่อยู่ในภาวะจนตรอกและอยากได้รับการเลือกตั้ง ต่างจากสมัยทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ใช้เวลาคิดนโยบายเป็นเวลานานจนชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลปัจจุบันใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง หลายคนตกใจมาก อย่างค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน มาเป็นแรงจูงใจ แต่กลายเป็นภาระให้รัฐบาลในเวลาต่อมา

รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ดังนั้น ข้าวตลอดฤดูกาลครึ่งหนึ่งจึงอยู่ในมือรัฐบาล ถ้าปีหน้าผลผลิตข้าวออกมาเพิ่มอีก รัฐบาลจะใช้โกดังที่ไหนเก็บ ได้ข่าวว่ามีเอกชนสร้างโกดังขึ้นมารองรับ คิดค่าเช่า 2,000-3,000 บาทต่อตารางเมตร แต่ถ้ารัฐบาลระบายข้าวออกมา ราคาข้าวจะตกลงกว่าเดิม แม้ตอนนี้จะพยายามขายข้าวให้กับประเทศต่างๆ เจรจาแบบรัฐบาลกับรัฐบาล แต่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีระบบจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสมากขึ้น และอยู่ระหว่างฤดูเก็บเกี่ยว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไทยอีก จะขายให้เกาหลีเหนือก็กังวลว่าอาจถูกชักดาบ จึงต้องพึ่งพิงเอกชนในการขายข้าวซึ่งเดิมพึ่งพิงเจ้าเดียว แต่ก็เป็นปัญหาไม่สามารถขายข้าวจำนวนล้านๆ ตันได้ รัฐบาลจึงมีภาระค่าดูแลสต๊อกข้าว ค่าตรวจคุณภาพ ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเงินจำนำครั้งต่อไป ต้องกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน

ผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็พูดว่าความสำเร็จของนโยบายจำนำข้าวคือ ราคาขาย ถ้าราคาข้าวรุ่ง เกษตรกรได้ราคาดีถือว่ากระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบาย เรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประการที่หนึ่ง เมื่อราคาสูงขึ้น รายได้จากการส่งออก คือราคาคูณปริมาณ ราคาสูงขึ้น แต่ปริมาณขายได้น้อยลง ทำให้รายได้ลดลง

ประการที่สอง ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการมีประมาณ 1 ล้านครัวเรือน แต่ชาวนาทั่วประเทศ 3.7-3.8 ล้านครัวเรือน ชาวนา 1 ล้านคนนี้ คือชาวนาที่มีผลผลิตส่วนเกิน มักมีฐานะดี เราเข้าใจผิดว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนจน จากการสำรวจข้อมูล แท้จริงแล้วชาวนาจนหรือไม่ โดยนำรายได้ของชาวนาทุกครัวเรือนมาเรียงวัดตามรายได้ของคนในประเทศ ปรากฏว่ากลุ่มที่รวยที่สุด 4 กลุ่มบน มีชาวนารวมอยู่ 1 ล้านครัวเรือน คือกลุ่มที่มีผลผลิตส่วนเกินขายในตลาด 52% ดังนั้น แม้เราจะสามารถยกระดับราคาได้ แต่ไม่ได้ช่วยชาวนาทั้งหมด ดังนั้น ผลของรับจำนำข้าว คือ ราคาข้าวสูงขึ้นแต่ส่งออกได้น้อยลง รายได้ชาวนาก็ไม่เพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเหลือชาวนาจริงหรือไม่

ส่วนเรื่องราคาข้าวควรอยู่ที่ระดับเท่าไรจึงจะเหมาะสม ข้อมูลราคาขายข้าวของรัฐบาลไม่มีการเปิดเผย แต่พอทราบว่ามีการยกเลิกการประมูลข้าว 7-8 แสนตัน เนื่องจากได้ราคาต่ำกว่ารัฐบาลประเมินไว้ ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาลรับซื้อที่ประมาณ 800 เหรียญสหรัฐ การแทรกแซงครั้งนี้ส่งผลให้ขาดทุนกว่าแสนล้านแน่นอน เพราะรัฐบาลมีข้าวเปลือกอยู่ในมือ 15-16 ล้านตัน เป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีข้าวเขมรที่แฝงเข้ามาอีก

โครงการรับจำนำข้าวในครั้งนี้กำลังจะกลายเป็นโครงการที่ทำลายคุณภาพข้าวไทย ไม่มีการตรวจเข้มเหมือนที่ชาวนานำไปขายให้โรงสี ในระยะต่อไปยังส่งผลถึงปริมาณด้วย มองว่าเป็นความล้มเหลวของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่สามารถสอนใครได้ว่าไม่ให้คุมราคา เพราะทำให้สินค้าไม่เกิดการแข่งขัน

ขอเสนอให้รัฐบาลจัดการเรื่องการบริหารโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและต้องให้คนได้รับผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน อยากให้รัฐบาลมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อดูแลการทำงานหน่วยงานต่างๆ ดูแลเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และควรค่อยๆ ลดนโยบายประชานิยมลงไป โดยสรุป การดำเนินการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังสอบไม่ผ่าน

ภาณุพงศ์ นิธิประภา

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ข้อหนึ่งแรงงานทุกคนไม่ได้รับผลประโยชน์ เนื่องจากบางคนได้รับมากกว่า มีเพียงแรงงานที่ไร้ฝีมือ แรงงานต่างด้าว ได้รับประโยชน์ ข้อสอง หากหักเรื่องเงินเฟ้อออกไปถือว่าค่าจ้างขั้นต่ำลดลงในรอบ 10 ปี เห็นว่าควรต้องเปลี่ยนแนวคิด ไม่ยึดติดกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงปริญญาตรี 15,000 บาท หากมีความสามารถควรได้รับค่าตอบแทนที่คุ้มค่าด้วย

เรื่องการประกันสินค้าเกษตร ข้าวกับยางเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวด้านการเมือง รัฐบาลไม่สามารถทำให้ราคาต่ำได้ เพราะเป็นเรื่องของฐานเสียง ดังนั้น ต้องมีการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้าวและยางให้ดีขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ตรงนี้ผมให้ 7 จาก 10 คะแนน

ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กก.ผจก.ด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

การลงทุนเพื่อรองรับเออีซี รวมถึงเชื่อมโยงพม่าเพื่อรองรับท่าเรือทวาย ทั้งยังเรื่องปรับโครงสร้างของประเทศรับน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นผลดี แต่สิ่งที่น่าห่วงคือโครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เกิดขึ้นในไทย เป็นไปได้ยาก บางโครงการใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 ปี ทั้งยังมีปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องบริหารจัดการให้ดี และทำให้คอร์รัปชั่นต้องน้อยที่สุด

ส่วนนโยบายการควบคุมราคาสินค้า ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ใช่ทางออกของปัญหาเงินเฟ้อ สิ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือการที่รัฐบาลออกมาตรการคุมราคาอาหารจานเดียว พี่น้องในระดับล่างได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้าต้องการควบคุมเงินเฟ้อ ไม่ควรตรึงราคาสินค้า และไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ แต่ควรพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะควบคุมสภาพคล่องของเงินให้มีความเหมาะสม

สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดในเวลานี้ คือการหาแหล่งพลังงาน ทดแทนพลังงานที่อาจหมดลงในอนาคต หากรัฐบาลมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชา ควรเจรจานำแหล่งก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยออกมาใช้ รวมถึงเร่งการพัฒนาการเชื่อมมหาสมุทรทั้งมหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ ผลักดันให้เกิดโครงการท่าเรือทวายโดยเร็ว ผมให้คะแนน 6 เต็ม 10 คะแนน

วีรไท สันติประภพ

รอง กก.ผจก.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมอย่างมาก และขณะเดียวกันก็ลดการจัดเก็บ ทั้งลดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ทำให้ฐานภาษีแคบลง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรายได้น้อยลง สวนทางกับรายจ่ายที่มากขึ้น

รวมถึงประเทศไทยยังมีระเบิดเวลาที่เรียกว่า ประกันสังคม มีการเพิ่มการรักษาพยาบาลขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีมาตรการทางการเงินที่ดี ในอีก 20 ปี อาจจะล้มละลายได้ ทั้งรัฐบาลในอดีตยังขาดการลงทุนในด้านของโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะประสบปัญหาเช่นเดียวกับกรีซ ที่มีปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบัน จนลุกลามเป็นปัญหาของกลุ่มอียู

ที่ผ่านมา ประชาชนของกรีซมีการจ่ายภาษีน้อยมาก และมีฐานภาษีที่แคบ รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม โครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มี เอาแต่เงินในอนาคตมาใช้ จนเกิดปัญหาแทบล้มละลาย ไทยมีสถานการณ์คล้ายกันที่พรรคการเมืองต่างแข่งขันชูประชานิยมเป็นหลัก

สิ่งที่รัฐบาลยังขาดอยู่นั้นคือเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน ที่ผ่านมารัฐบาลทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ขาดนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งยังขาดการปฏิรูปเศรษฐกิจ การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิรูประบบราชการที่จะส่งเสริมภาคเอกชน และยังขาดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการป้องกันคอร์รัปชั่น รวมถึงรัฐบาลยังขาดเรื่องวินัยทางการเงินในการดำเนินนโยบาย ทั้งการขยายเวลารับประกันเงินฝาก การพักหนี้ดีที่ไม่ควรทำ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าชมเชย หากให้คะแนนรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะให้คะแนน 6 เต็ม 10


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2555


อัดนโยบายรับจำนำข้าว เพิ่มภาระประเทศ

ทีดีอาร์ไอวิพากษ์นโยบาย"จำนำข้าว"รัฐบาลเพื่อไทย เตือนระเบิดเวลาวิกฤติหนี้ใน 10 ปีข้างหน้า พร้อมให้คะแนนรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์"สอบตกบริหารประเทศ
วานนี้ (24 ก.ค.) สถาบันคึกฤทธิ์ จัดเสวนาเชิงวิชาการ "วิพากษ์ผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล" โดยนักเศรษฐศาสตร์เตือนนโยบายประชานิยมกำลังจะสร้างปัญหาให้กับประเทศระยะยาว หลังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว มีรายละเอียดดังนี้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าววิจารณ์นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลว่าเป็นนโยบายจนตรอกที่ทำขึ้น เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมีจำนวนมาก และขณะนี้ รัฐบาลกำลังตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับนโยบายนี้

นายนิพนธ์ ประเมินว่า ผลการดำเนินโครงการจำนำข้าวตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณข้าวเปลือกครึ่งหนึ่งของประเทศตกอยู่ในมือรัฐบาล และยังไม่มีการระบายข้าวออกไป ปัญหาที่จะตามมา คือ รัฐบาลจะไม่มีโกดังเก็บข้าวที่จะจำนำล็อตใหม่ ซึ่งมีข่าวว่าขณะนี้ ภาคเอกชนได้ลงทุนสร้างโกดังไว้รองรับแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะขาดเงินในการเปิดรับจำนำรอบใหม่

"ถ้าเปิดจำนำรอบใหม่ รัฐบาลไม่มีโกดังเก็บข้าวต่อไป เราจะเหมือนประเทศอินเดียที่เอาข้าวมากองไว้เต็ม แต่ถ้ารัฐบาลจะระบายข้าว ราคาข้าวก็ต้องตกแน่ ไม่มีทางขายได้ราคา ขณะนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลกำลังวิ่งเต้นเพื่อขายข้าว แต่ไม่มีใครซื้อ ฉะนั้น รัฐบาลกำลังมีปัญหาที่เรียกว่า กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับนโยบายนี้"

นายนิพนธ์แนะว่ารัฐบาลควรทยอยระบายข้าวออกไปเป็นล็อตเล็กๆ และทำใจกับราคาข้าวที่ตกลง เพราะถ้าไม่ระบาย ต้นทุนสต็อกข้าวจะก่อให้เกิดปัญหาพร้อมๆ กับต้นทุนเงินที่จะใช้ เพื่อรับจำนำรอบใหม่จะสูงขึ้น เพราะเงินมีจำกัด และควรเปิดเผยข้อมูลหลังการระบายข้าวว่าขายออกไปจำนวนเท่าไร และขายให้ใคร เพื่อให้รับรู้ผลการดำเนินโครงการเป็นระยะ

เขากล่าวด้วยว่า ให้จับตาผลของการดำเนินโครงการนอกเหนือจากภาระขาดทุนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออก เพราะเชื่อว่า ถ้าขายในราคาสูงแล้ว จะไม่สามารถขายได้ในปริมาณที่มาก ขณะเดียวกัน ก็ให้ดูว่า มีชาวนากี่รายที่ได้ประโยชน์ตามนโยบายนี้ เพราะตามข้อมูลปรากฏว่า มีชาวนาทั่วประเทศถึง 3.8 ล้านคน แต่มีชาวนาเข้าโครงการนี้เพียง 1 ล้านคนเศษ

"ถ้ามีชาวนาเพียง 1 ล้านคนที่เข้าโครงการนี้ ก็เท่ากับว่า มีเพียงชาวนา 1 ล้านคนมีผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นชาวนาที่ร่ำรวย แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวนาที่เข้าโครงการจะได้ในราคา 15,000 บาทต่อตัน"

เขากล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรทยอยยกเลิกนโยบายนี้ เพราะนอกจากภาระขาดทุนที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนแล้ว โครงการนี้ยังทำลายระบบการผลิตข้าวของไทยด้วย เพราะกลไกตลาดที่เปลี่ยนทำให้เกษตรกรเร่งผลิตข้าวที่ขาดคุณภาพ ต่างจากอดีตที่รับซื้อข้าวจากภาคเอกชน ซึ่งมีมาตรฐานการรับซื้อ แต่ด้วยนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ด ทำให้มาตรฐานในการรับซื้อข้าวเปลี่ยนไป ต่อไปอย่าว่าแต่คุณภาพข้าวไม่ได้แล้ว ปริมาณที่จะขายข้าวก็ไม่มี

"ผมให้คะแนนรัฐบาลในการดำเนินนโยบายบริหารเศรษฐกิจสอบตก เพราะมีหลายนโยบายที่สร้างภาระหนี้ ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่ก็มีบางนโยบายที่ควรสนับสนุน คือ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็เชื่อว่า ถ้าไม่ปรับระบบการบริหารจัดการให้ดีแล้ว เชื่อว่า แผนการลงทุนขนาดใหญ่จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน"

แนะยกเลิกกลไกคุมราคาสินค้า

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวไม่เห็นด้วยกับนโยบายควบคุมราคาสินค้าของรัฐบาล โดยเฉพาะในสินค้าที่มีความจำเป็น เพราะจะทำให้การผลิตและคุณภาพการผลิตลดลงและควรปล่อยให้มีการแข่งขันด้านราคาที่เสรี

"คำถามคือว่า ถ้ารัฐบาลกลัวว่าจะเกิดเงินเฟ้อ จึงต้องเข้ามาควบคุมราคาสินค้า แต่ที่จริงแล้วหน้าที่นี้ ไม่ใช่หน้าที่หลักของรัฐบาล แต่เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติในการดูแล อย่าไปยุ่งกับกลไกตลาด เวลาที่รัฐบาลแทรกแซงราคา จะเห็นว่า สินค้านั้นจะหายไปจากตลาดทันที เช่น น้ำมันปาล์ม หรือก๊าซ ถ้าเรายังคุมราคา การบริโภคก็จะเกิดขึ้นมาก โดยไม่คำนึงว่า วันหนึ่งก๊าซธรรมชาติจะหมดไป"

เขายังวิเคราะห์ภาพรวมดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นี้ เหมือนกับการพยุงให้เครื่องบินขึ้น โดยเร่งเครื่องเต็มที่ และใช้นโยบายกระตุ้นอย่างหนัก ขณะเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถคุมกลไกตลาดได้ เช่น โครงการจำนำข้าว ซึ่งเชื่อว่า จะขายข้าวได้ แต่ที่จริงแล้ว ปริมาณข้าวที่ผลิตทั่วโลกมีถึง 400 ล้านตันต่อปี แต่มีการซื้อขายจริงแค่ 30 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

"ผมไม่เชื่อว่า รัฐบาลจะบริหารกลไกตลาดได้ดีกว่าตลาดบริหารกันเอง และผมให้คะแนนรัฐบาลแค่ 6 คะแนนจาก 10 คะแนนเต็มเท่านั้น"

นายศุภวุฒิสนับสนุนให้รัฐบาลลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดต้นทุนด้านระบบโลจิสติกส์ แต่เป็นห่วงเรื่องการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้น รวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินการ

ชี้กระทบฐานะการคลังระยะยาว

นายวิรไท สันติประภพ รองกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ทำขึ้นเพื่อหวังผลชนะการเลือกตั้งเท่านั้นและเม็ดเงินส่วนใหญ่เพื่อกระตุ้นการบริโภค ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ เมื่อประชานิยมแล้ว ฐานรายได้จะเป็นอย่างไร เท่าที่ประเมินเชื่อว่าฐานรายได้ของรัฐบาลจะหายไป และขณะนี้ รัฐบาลก็ไม่มีแผนในการขยายฐานรายได้ที่ชัดเจน

"เรื่องฐานภาษีเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะประชานิยมส่วนใหญ่จะเห็นการลดภาษี ขณะที่ข้อเสนอเรื่องการขึ้นภาษีกลับไม่ได้รับการพิจารณาทั้งมูลค่าเพิ่ม หรือโทรคมนาคม ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ยินเรื่องการขยายฐานภาษีจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าอนาคตเปิดเสรีการค้ามากขึ้น ผู้ประกอบการเลือกประเทศที่จะลงทุนได้มากขึ้น เราก็จะเสียฐานภาษีนี้ไป ที่สุดแล้ว จะกระทบฐานการคลังระยะยาวของประเทศ"

นายวิรไทย เสนอว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมองระยะยาวมากกว่าระยะสั้น จึงจำเป็นที่ต้องออกมาตรการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ 3-5 ปี ที่ชัดเจน จะเป็นตัวสะท้อนกลับมาสร้างแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี

"ผมให้คะแนนการทำงานของรัฐแค่ 6 คะแนน และหากรัฐบาลจะทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยไม่มีเวลาคิดมากนัก ขอเสนอว่า ควรจะคัดลอกแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของมาเลเซีย ให้ได้แค่ครึ่งหนึ่ง ก็ถือว่าผ่านแล้ว เพราะแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของมาเลเซีย จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ และระบบราชการที่มีความชัดเจน"

นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงการทำงานของรัฐบาลนี้ที่ผ่านมา ยังขาด 3 คำในวงการเศรษฐศาสตร์ คือ นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ และวินัยทางการคลัง เช่น นโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาล เป็นนโยบายที่เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งหากเป็นนโยบายเศรษฐกิจ จะต้องคิดนโยบายอย่างรอบคอบและมีการเยียวยาในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ

ชี้อีก 10 ปี เกิดปัญหาหนี้

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงวินัยทางการเงินการคลังจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในอนาคต เนื่องจากตอนนี้เริ่มเห็นการหมกหนี้ของรัฐบาลไว้ตามที่ต่างๆ และมีความเป็นห่วงในโครงการรับจำนำข้าว เพราะมีแนวโน้มขาดทุนมหาศาล หากรับจำนำข้าวหมด 15 ล้านเกวียน ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะขายไม่ออก ขณะที่คุณภาพข้าวเสื่อม

รวมทั้งในแง่ของราคาข้าว เมื่อเอาข้าวมาอยู่ในมือเราทั้งหมดแล้ว ราคาข้าวโลกจะสูงขึ้น ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง เพราะปริมาณการค้าข้าว นำเข้าส่งออก มีเพียง 30 ล้านตัน แต่ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของโลกมีสูงถึง 400 ล้านตัน เมื่อมีการแข่งขันสูงจะยิ่งทำให้ราคาต่ำลงไปอีก

"เมื่อรัฐบาลรัฐซื้อข้าวมาและต้องขายในราคาที่ไม่ขึ้น เห็นผลขาดทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลถึงแสนล้านบาท หากรัฐบาลยอมรับผลขาดทุนได้ถึงแสนล้านบาทแล้วหากปล่อยไปย่อมรับผลการขาดทุนต่อไปเป็นหลัก 2-3 แสนล้านบาท โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง และจะก่อหนี้ในระยะยาวจนเกิดปัญหาอีก 10-15 ปีข้างหน้าได้"

พอใจรัฐบาลแก้เงินเฟ้อ-ว่างงาน

ด้าน นายภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสนับสนุนนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพราะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ควรทำมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำกว่าและสูงกว่า 300 บาทต่อวัน ขณะเดียวกัน เห็นว่านโยบายนี้ไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่เงินเฟ้อล่าสุด อยู่ในระดับ 3%

"ผมให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จำนวน 7 คะแนน ซึ่งการจะวัดว่านโยบายจะดีหรือไม่ดี ให้ไปดูที่อัตราเงินเฟ้อ และการว่างงาน ถ้าไม่มีปัญหา ผมว่า ผมพอใจแล้ว


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : วิพากษ์ เชิงวิชาการ ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล

view