สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิษจำนำข้าวทุกเมล็ดระบายไม่ดีสิทธิพัง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

โครงการรับจำนำข้าวถือเป็นหนึ่งในโครงการประชานิยมของรัฐบาล เพื่อไทยที่กำลังพ่นพิษใส่รัฐบาลให้เปรอะเปื้อน แม้ว่าเพิ่งดำเนินโครงการได้แต่รอบแรกเท่านั้น

รัฐบาลเพื่อไทยตีฆ้องร้องป่าว โครงการรับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาท ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่กระชาก คะแนนเสียง ทำให้รัฐบาลได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

อย่างไรก็ตาม การรับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดจำนวนมากถึงตันละ 1.5 หมื่นบาท ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล 23 แสนล้านบาทต่อรอบการจำนำ

เพราะรัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมา คือ การระบายขายข้าวจำนวนมากที่รัฐบาลรับจำนำมาในราคาสูงกว่าตลาด แต่ต้องทำเพื่อไม่ให้ขาดทุนจำนวนมหาศาลจะทำได้อย่างไร จะขายแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐก็หมายถึงว่าอำนาจการต่อรองราคาก็ลดลง จะเร่งขายออกไปเร็วก็ไม่ได้ราคา

เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้ว หากมีการระบายข้าวช้าย่อมเสียหายมากขึ้น เพราะข้าวที่เก็บไว้นานจะมีคุณภาพลดลง ราคาที่จะขายออกไปย่อมหายวับไปตามความเสื่อมคุณภาพของข้าว

ทั้งหมดนั้นเป็นปัญหาของโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังแผลงฤทธิ์ใส่จนทำให้บรรดาแกนนำรัฐบาลจนนั่งกันไม่ติด

ข้อมูลที่ ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงกับคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงโครงการรับจำนำข้าว ระบุชัดว่า เป็นห่วงการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่ล่าช้า อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาลถัดไป

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจะมี 2 เรื่องที่สำคัญ คือ

1.สถานที่เก็บข้าวที่รับจำนำจากชาวนาไม่เพียงพอ

2.จะขาดเงินทุนที่ใช้ในการรับจำนำ เพราะหากไม่มีการขายข้าวออก ทำให้รัฐบาลขาดสภาพคล่องที่จะนำมาใช้ ทำให้ต้องกู้เงินเพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นภาระงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ยังให้ข้อมูลว่า โครงการรับจำนำข้าวรอบแรก ธนาคารใช้เงินไปแล้ว 2.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินของ ธ.ก.ส. จำนวน 9 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้มาให้ โดยคาดว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูกาลผลิต 2555 ที่จะสิ้นสุดโครงการในเดือน ส.ค.นี้ จะมีข้าวมาจำนำถึง 11 ล้านตัน

ข้อมูลที่ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นว่า โครงการรับจำนำกำลังกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตกเอาไม่อยู่ โดยเฉพาะการระบายข้าวออกไป เพื่อนำเงินมาจำนำข้าวรอบใหม่ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เหมือนที่จำนำในรอบแรก

มีการประเมินในวงการค้าข้าวว่า ข้าวเปลือกที่รัฐบาลจำนำ 11 ล้านตัน จะสีออกมาเป็นข้าวสารได้ 8 ล้านตัน โดยมีต้นทุนราคาข้าวอยู่ตันละ 800 เหรียญสหรัฐ เทียบกับราคาในตลาดโลกที่อยู่แค่ที่ตันละ 400450 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

เบาะๆ ขาดทุนยับ 350-400 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ราคาดังกล่าวจึงเป็นประจักษ์พยานชัดว่า การรับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดแบบเกินจริงสุดกู่ ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาตลาดโลกถึงเท่าตัว กลายเป็นจุดสลบ และจุดตายที่ทำให้การระบายข้าวของไทยเป็นอัมพาต

โดยตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยตกวูบกว่า 50% เทียบกับช่วงที่ผ่านมา เพราะพ่อค้าข้าวสู่ราคาข้าวไทยไม่ไหว หนีไปซื้อข้าวเวียดนาม อินเดียไปขายให้กับลูกค้าของตัวเองดีกว่า

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้การระบายข้าวไทยมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

เพราะหากต้องการระบายข้าวได้นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องยอมขาดทุนครึ่งหนึ่งเพื่อระบายข้าวออกไป

พอเทียบเคียงกับตัวเลขให้เห็นภาพได้ดังนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินรับจำนำข้าวจำนวน 2.7 แสนล้านบาท นั่นหมายความรัฐบาลต้องยอมขาดทุนถึง 1.3-1.4 แสนล้านบาท จึงจะระบายข้าวออกหมด ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมหาศาล

สวนทางกับคำชี้แจงของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าวในปีแรกจะเสียหายแค่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งหากคิดทั้งโครงการจนระบายข้าวหมดความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท อย่างแน่นอน

ส่วนการแก้ต่างของ รมว.พาณิชย์ ว่า การรับจำนำเสียหายน้อยกว่าโครงการรับประกันของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่แต่ละปีเสียหายถึง 7 หมื่นล้านบาท เป็นการแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น

เพราะโครงการรับประกันราคาข้าวมีความแตกต่างกับโครงการรับจำนำ ในส่วนของโครงการรับประกันเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายปีละ 7 หมื่นล้านบาท จ่ายตรงถึงเกษตรกรโดยตรง ทำให้ไม่มีปัญหาทุจริตของโรงสีพ่อค้าคนกลาง

นอกจากนี้ โครงการรับประกันข้าวยังมีปัญหาเรื่องของการระบายข้าวให้หนักอก และยังเป็นการบิดเบือนราคาตลาดที่น้อยกว่าโครงการรับจำนำ ทำให้ตลาดค้าขายทั้งในและนอกประเทศยังสามารถเดินต่อไปได้ไม่มีปัญหา

การที่รัฐบาลออกมาแก้ต่างว่า จะเร่งระบายจำนำข้าว โดยการเจรจาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่หลายฝ่ายก็มองว่าเป็นการแก้ไม่ถูกทาง เพราะการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ มีความล่าช้า และเป็นไปได้ยากที่จะขายได้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกที่เป็นอยู่

หลากประเด็นเหล่านี้ ส่งผลให้การระบายข้าวกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่มีทางออก

ยิ่งปล่อยเวลานานความเสียหายก็ยิ่งเกิดขึ้นมาก เพราะข้าวขาดคุณภาพ การจะระบายข้าวออกก็ต้องมีต้นทุนเพิ่มในการปรับปรุงข้าวผสมข้าวดีเข้าไปก่อน ขาย กลายเป็นต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

และยิ่งมองไปข้างหน้า การจำนำข้าวรอบใหม่จะเข้ามารอบแรก เพราะราคาที่สูงเกินจริง ทำให้เกษตรเร่งปลูกข้าวจำนวนมากขึ้น ปริมาณข้าวในสต๊อกของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจนรัฐบาลเอาไม่อยู่คิดไม่ออกว่าจะ ระบายข้าวอย่างไร

อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิจารณ์ว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการยอดแย่ของรัฐบาล จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศจำนวนมหาศาล

เขามองว่า รัฐบาลคิดว่าจะบริหารโครงการรับจำนำข้าว แบบนักเล่นหุ้น คิดว่าซื้อมาขายออกไปก็ต้องได้ราคาเพิ่มขึ้น

แต่รัฐบาลคิดผิด เพราะการซื้อขายหุ้นมีจำนวนหุ้นจำกัด เมื่อคนอยากได้มากก็ทำให้ราคาแพง

แต่สำหรับการรับจำนำข้าว เกษตรกรปลูกข้าวไม่จำกัด รัฐบาลรับจำนำทุกเมล็ด ยิ่งนานวันรัฐบาลก็ยิ่งมีข้าวมาก ขณะที่การระบายข้าวยิ่งนานวันยิ่งได้น้อย เพราะรัฐขายข้าวทุนไม่ได้ ก็เป็นปัญหารัดคอรัฐบาลให้จมกองข้าวตายในที่สุด

อัมมาร ยังมองว่า โครงการรับประกันราคาจะดีกว่า โครงการรับจำนำ เพราะเงินที่รัฐต้องจ่ายส่วนใหญ่เป็นของเกษตรกร ไม่มีปัญหานักการเมืองพ่อค้าโรงสีคอร์รัปชันจากการจำนำข้าว

ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่เป็นฝีเริ่มแตก เป็นวิบากกรรมที่รัฐบาลต้องเจองานหนัก เพราะการรับจำนำข้าวที่สร้างภาระจำนวนมาก ทำให้ระบบการค้าข้าวของประเทศพัง และยังทำให้ประเทศเสียหายสูญเงินเป็นแสนล้านบาท

การรับจำนำข้าวยังสร้างความอ่อนแอให้กับสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ที่ต้องให้แบงก์รัฐอุ้มโครงการนี้ของรัฐบาล จนทุนหายไม่มีกำไร และที่ผ่านมาต้องขอเพิ่มทุนอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐต่อไป แต่รัฐบาลก็เบรก เพราะรัฐบาลก็อยู่ในภาวะถังแตกเช่นกัน

นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าวยังสร้างหนี้ให้กับประเทศจำนวนมาก รอบแรกรัฐบาลต้องกู้เงินให้ ธ.ก.ส. ถึง 1.6 แสนล้านบาท และในการรับจำนำข้าวรอบใหม่ รัฐบาลยังไม่สามารถระบายข้าวก็ต้องกู้มารับจำนำไปก่อน ทำให้หนี้เพิ่มอีกเท่าตัว ส่งผลให้ภาพรวมหนี้ของประเทศน่าเป็นห่วง

รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศทำสัดส่วนหนี้จาก 42% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 45% ในปีหน้า และหน้าจะเพิ่มเป็น 48-50% ของจีดีพี จากการกู้มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและใช้จ่ายสารพัดโครงการประชานิยม ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ต้องใช้เงินจำนวนมากคือ โครงการรับจำนำข้าว

ปัญหาของโครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ ก่อนจะพังกันทั้งหมด

ลำพังยังไม่รับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ผ่านมาก็มีข้าวคาราคาซังค้างสต๊อก 2 ล้านตัน ระบายไม่ออก และยังมีข้าวเพิ่มขึ้นมาอีก 8 ล้านตัน รวมกันเป็น 10 ล้านตัน และอีกไม่ถึงปีก็จะมีข้าวจากการจำนำรอบใหม่มาเติม เป็นปัญหาระบายข้าวให้วิกฤตขึ้นไปอีก

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าโครงการรับจำนำสร้างปัญหามากกว่า ได้ประโยชน์ และควรทบทวนโครงการรับจำนำรอบใหม่ควรดำเนินการต่อไปหรือไม่

เพราะการที่รัฐบาลดื้อไม่ฟังใคร ยึดแต่ผลประโยชน์การเมือง เอาใจแต่ฐานเสียง เดินหน้าโครงการรับจำนำต่อ โดยไม่คำนึงความเสียหายสารพัดด้าน ถือว่าเป็นการพาประเทศไปลงเหวตายในที่สุด


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : พิษจำนำข้าวทุกเมล็ด ระบายไม่ดีสิทธิพัง

view