สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เร่งเครื่องลงทุนน้ำ 3แสนล้าน ไม่หวาน คอแร้ง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...จตุพล สันตะกิจ

น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ผ่านพ้นไปนานแล้ว พร้อมๆ กับการผ่าน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและ สร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

รัฐบาลให้เหตุผลว่า การลงทุนระบบจัดการน้ำมีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุเภทภัยจากน้ำท่วมเช่นปีที่แล้วอีก แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่า เงินก้อนโตที่กันไว้ลงทุนระบบจัดการน้ำและป้องกันอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้า พระยาใหญ่ 8 ลุ่มน้ำ และลุ่มแม่น้ำอื่นทั่วประเทศ 17 ลุ่มน้ำ ที่ย้ำกันหนักหนาว่าจำเป็นเร่งด่วนกลับไม่ “หวานหมู” อย่างที่คิด

วันนี้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มีการใช้เงินไปไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนระบบน้ำระยะเร่งด่วน เช่น การสร้างเขื่อนปิดล้อมเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล

แต่โครงการก็ยังล่าช้ากว่าแผน กระทั่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องลงมาเร่งเครื่องเอง

ขณะที่เงินลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาท ที่ยัง “ค้างเติ่ง” ในมือ ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) นั้น

แม้ปลอดประสพหมายมั่นปั้นมือว่า เงินกู้ก้อนนี้จะถูกนำไปลงทุนระบบน้ำทั้ง 16 แผน ได้ต้นปีหน้าเป็นอย่างช้า ใช้เวลาก่อสร้างโครงการพื้นฐานจัดการน้ำ 3-5 ปี และมั่นใจว่าอีก 100 ปีน้ำจะไม่ท่วมหนักอย่างนี้แน่

แต่ตัว “ดร.ปลอดประสพ” เองก็รู้ดีว่างานที่ทำอยู่ไม่ได้ง่ายเหมือนกับแผนที่วาดไว้ในกระดาษ

 

เพราะหากไล่เรียงทีละประเด็น จะพบว่าแม้การลงทุนระบบจัดการน้ำจะเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกับอนาคตประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยและธุรกิจ

ทว่า ผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้วเหมือนกับโครงการยัง “ย่ำอยู่กับที่” นั่นเพราะ

ประเด็นแรก คือ การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสการลงทุนโครงการระบบน้ำที่บ้างก็ว่ากันว่ามีการทุจริต “จ่ายใต้โต๊ะ-กินหัวคิว” 20-50% เช่น ที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ระบุ ขณะที่การทุจริตต่างๆ แทบจับมือใครดมไม่ได้ ไม่มีใบเสร็จที่จะสาวไปถึงตัวคนรับคนให้ เพราะสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

“โครงการน้ำเป็นการลงทุนที่ใช้เงินเยอะ ทั้งเป็นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนในการรีบเร่งดำเนินการ ทำให้เกิดช่องว่างในการตรวจสอบ” วิโรจน์ ฆ้องวงศ์ นักกฎหมาย สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงมูลเหตุที่ว่าเหตุใดคนจึงสงสัยว่าการลงทุนน้ำไม่โปร่งใส

อีกทั้งกรณีข้อครหาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะการออกแบบกรอบแนว คิดจัดการน้ำ หรือ Conceptual Plan ที่ไม่ชัดเจนว่าจะให้คะแนนกันอย่างไร มีเพียงการระบุว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการมาคัดเลือก

แถม ดร.ปลอดประสพ ยังระบุว่า บริษัทที่เสนอแนวคิดจัดการน้ำ 3 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก หากบริษัทหรือกลุ่มบริษัทใดมีศักยภาพในการก่อสร้างด้วย จะได้รับคะแนนพิเศษและคว้างานออกแบบรายละเอียดโครงการที่มีค่าจ้าง 6,000 ล้านบาท

แต่นั่นก็เท่ากับชี้ช่องว่า บริษัทที่ชนะการออกแบบรายละเอียดโครงการ มีสิทธิได้งานก่อสร้างโดยไม่เหนื่อยนัก

ดังนั้น หากรัฐบาลและปลอดประสพไม่เคลียร์ปมที่เป็นข้อครหาที่ส่อในทางทุจริต หรือรุมทึ้งงบแสนล้านได้ ไม่เผยรายละเอียดโครงการและราคาที่เอกชนประมูลโครงการได้ไปแบบ “ทุกซอกทุกมุม”

ก็ไม่มีทางที่ประชาชนจะหายแคลงใจ เพราะยิ่งปิดคนก็ยิ่งอยากรู้ ถ้าปิดจนคนไม่รู้ ก็แสดงว่ามีอะไรในกอไผ่แน่ๆ และต้องไม่ลืมว่าสถานะของผู้ก้าวสู่อาชีพนักการเมืองนั้น ทำดีก็เสมอตัว ทั้งเป็นอาชีพที่สังคมมองว่าความน่าเชื่อถือต่ำ

ประเด็นที่สอง คือ การเปิดเผยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนระบบน้ำและการเยียวยา เพราะจนแล้วจนรอดรัฐบาลและ กบอ.ไม่ยอมปริปากบอกประชาชนแม้แต่คำเดียวว่าพื้นที่รับน้ำนองหรือแก้มลิง พื้นที่ทางน้ำผ่านหรือฟลัดเวย์อยู่ที่ไหนบ้าง ทั้งๆ ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตประชาชนนับล้านคน

“เราทำตุ๊กตาให้เขาเห็นว่า ถ้าเราจะสร้างเขื่อน เราจะทำอย่างนี้ มีพื้นที่แก้มลิงและฟลัดเวย์ในใจตรงนี้ แต่เหตุผลที่เราไม่เผย เพราะพื้นที่ยังไม่ชัด ถ้าบอกไปแล้ว 3 ปีไม่ใช่อย่างนี้ ชาวบ้านก็เสียหาย” นั่นคือเหตุผลที่ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการ กบอ. บอก

แต่ในมุมมองของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกลับชี้ว่า ในเมื่อโครงการลงทุนระบบน้ำมีผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่ว ถึง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ว่าด้วยสิทธิการได้ข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลการดำเนินโครงการ

เมื่อประเด็นเหล่านี้ยังเคลียร์ไม่ชัด การสร้างกระแสร้อนๆ ปลุกม็อบมวลชนต่อต้านการลงทุนระบบน้ำ การเผชิญหน้าระหว่างมวลชนกับภาครัฐเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก

ประเด็นที่สาม คือ การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ ชุมชน โดยเฉพาะปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีสาระสำคัญว่า

โครงการที่ “อาจ” ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ต้องจัดรายงานผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รายงานผลกระทบสุขภาพของประชาชนในชุมชน (เอชไอเอ) พร้อมทั้งจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ก่อน และให้องค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีดำเนินการ

เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ประธานกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (เฉพาะกาล) หรือ กอสส. ให้ความเห็นว่า การลงทุนระบบน้ำ ซึ่งรวมถึงฟลัดเวย์ “ควร” ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในประเภทโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่าง รุนแรงฯ โดยเฉพาะหากวางแผนสร้างฟลัดเวย์ผิดพลาดจะมีผลกระทบต่อประชาชน

แต่ทว่า กอสส.ชุดปัจจุบันเกิดขึ้นตามบทเฉพาะกาล จึงไม่มีอำนาจกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ชุมชนอย่างรุนแรงได้

เท่ากับว่า การลงทุนระบบน้ำ แก้มลิง และฟลัดเวย์อาจไม่เข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสอง แต่ก็จำเป็นต้องจัดทำอีไอเอและรับฟังความเห็นจากประชาชนอยู่ดี นั่นหมายถึงการลงไปคุยกับชาวบ้าน

“ชาวบ้านจะไปต่อต้านทำไมในเมื่อยังไม่รู้ว่าจะทำตรงไหน ยกเว้นว่าจะมีคนไปแหย่ พื้นที่ตรงนั้นอาจเป็นบ้านผมก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นค่อยมาคุยกัน เราจะใช้ปากลงไปคุย” ปลอดประสพ ย้ำ

ขณะที่ปลอดประสพเองก็เดินเกมที่จะเร่งรัดให้โครงการลงทุนระบบน้ำที่ต้องมีการทำอีไอเอผ่าน “ฉลุย” โดยได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แต่งตั้งตนเองเป็น “ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ”

แม้ตำแหน่งจะฟังดูเหมือนไม่มีความหมาย แต่อย่าลืมว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติรายงาน “อีไอเอ-เอชไอเอ” โครงการลงทุนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นหมายรวมถึงโครงการลงทุนระบบน้ำด้วย เพื่อกรุยทางลงทุนแต่เนิ่นๆ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดู “ฝีปาก” ของ ดร.ปลอดประสพ ก็แล้วกัน

“มีแต่พวกพูดกันน้ำท่วมทุ่ง ผมจึงต้องลงมาดูเอง” ปลอดประสพ กล่าว

ประการสุดท้าย คือ การลงทุนระบบน้ำบนกระแสการเมืองที่เชี่ยวกราก ลำพังแค่น้ำท่วมรอบที่แล้ว นักการเมืองต่างพรรคต่างโหนกระแสน้ำโจมตีพรรคคู่แข่งขันกันสนุกปาก ไม่ยี่หระความเดือดร้อนของคนจมน้ำ สังคมที่ทุกข์เพราะน้ำท่วมอยู่แล้ว ยังต้องเจอทุกข์ซ้ำเพราะความขัดแย้งอันเนื่องจากการแจกของบริจาคที่ “อิงพรรคอิงพวก”

แม้แต่วันนี้เองรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่กุมนโยบายบริหารประเทศ และพรรคประชาธิปัตย์ที่กุมอำนาจบริหารงาน กทม. ยังคงทำงานขัดแข้งขัดขากันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ฝ่ายหนึ่งบอกว่าจัดสรรเงินให้ไปแล้ว แต่อีกฝ่ายไม่ลงมือ บ้างก็ว่าจะริบคืนเงินที่ให้ กทม.นำไปขุดลอก 1,900 ล้านบาทบ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครทำอะไร

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมฝนตกเพียงแค่ 12 ชั่วโมง พื้นที่ กทม.หลายแห่งมีน้ำท่วมขัง ถนนหลายสายตกอยู่ในสภาวะการจราจรเป็นอัมพาต เพราะตะกอนดินที่สะสมในท่อระบายน้ำ

ขณะที่โครงการขุดลอกคูคลองลอกท่อน้ำตอนนี้ เรียกได้ว่าแทบไม่กระดิก เพราะไม่รู้ว่าผู้ว่าราชการไปอยู่ที่ไหน

โดยเฉพาะกลางศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ที่มีจะมีขึ้นต้นปี 2556 เรื่องน้ำน่าจะถูกหยิบยกมาโจมตีคู่แข่งบนเวทีปราศรัยแน่นอน ขณะที่คำสั่งรัฐบาลกลางให้ กทม.เร่งรื้อย้ายบ้านเรือนที่บุกรุกคลองสาขาแม่น้ำเจ้าไม่ต่ำกว่า 10 สาย ทั้งฝั่ง กทม.และฝั่งธนบุรี 8,136 ครัวเรือน เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองบางเขน

แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริการจัดการน้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าลงไปดูแนวริมคลองก็จะรู้ว่าเขตนั้นเป็นฐานเสียงของใคร

สรุปสุดท้ายแล้ว การลงทุนระบบน้ำ 3 แสนล้านบาทรอบนี้ ไม่ได้หวาน “คอแร้ง” เหมือนที่หลายคนตั้งใจ

ทั้งยังมีอีกหลายด่านที่ต้องฝ่าฟัน ทั้งถูกจับจ้องจากสังคมอย่างไม่วางตา แต่ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องฝ่าไปให้ได้


รักษ์ไม้,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,มูลไส้เดือนดิน,การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยอินทรีย์,ปุ๋ยชีวภาพ

Tags : เร่งเครื่องลงทุนน้ำ 3แสนล้าน ไม่หวาน คอแร้ง

view