จากเทคโนโลยี่ชาวบ้าน
กรมหม่อนไหม เผยผลวิจัยหม่อนผลสด บำรุงสมองและหลอดเลือด
คุณ ประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า จากกระแสความนิยมบริโภคผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้รัก สุขภาพ ซึ่งต้องการบริโภคผลไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อสมองและร่างกาย ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละปีมีมูลค่าการนำเข้าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ปีละหลายร้อยล้านบาท กรมหม่อนไหมจึงได้ทำการศึกษาวิจัยผลหม่อนหรือมัลเบอร์รี่ ซึ่งพบว่าผลหม่อนมีกรดโฟลิกสูงกว่าบลูเบอร์รี่ถึง 1-2 เท่า และยังมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเจริญเต็มที่ เซลล์ประสาทไขสันหลังและเซลล์สมองเจริญเป็นปกติ กระแสเลือดหมุนเวียนดี และหลอดเลือดแข็งแรง รวมถึงลดอาการแพ้ต่างๆ และช่วยยืดอายุเม็ดเลือดขาวอีกด้วย
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ผลหม่อนสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้หลายชนิด เช่น น้ำหม่อนพร้อมดื่ม น้ำหม่อนสกัด น้ำหม่อนเข้มข้น แยมหม่อน และท็อปปิ้งหม่อน ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ เช่น โครงการพระราชดำริภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน โครงการพระราชดำริดอยม่อนล้าน จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ศูนย์ศิลปาชีพหม่อนไหมบ้านห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มเกษตรกรบ้านดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการผลิต ปีละประมาณ 200-300 ล้านบาท
สำหรับประเทศที่นำ เข้าผลิตภัณฑ์หม่อนผลสดจากไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ซึ่งโดยปกติผลหม่อนจะให้ผลผลิต ประมาณ 1,000 กิโลกรัม/ไร่/ปี และมีราคาในท้องตลาดกิโลกรัมละประมาณ 500 บาท ทำให้เกษตรกรที่ปลูกมีรายได้เพียงพอที่จะปลูกเป็นอาชีพหลักได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสำคัญที่จะต้องดำเนินการแก้ไขคือ ผลหม่อนเน่าเสียเร็ว เนื่องจากมีผิวบาง ซึ่งในอนาคตหากสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คาดว่าแนวโน้มการปลูกและการบริโภคผลหม่อนจะขยายตัวสูงขึ้น และมีศักยภาพที่จะใช้ทดแทนการนำเข้าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จากต่างประเทศได้
คุณ วิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผลิตภัณฑ์หม่อนไหม กรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลหม่อนเป็นผลไม้ที่ไม่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค แมลง จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์มัลเบอร์รี่หรือผลหม่อนจึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ เป็นทางเลือกใหม่ที่มีผลดีต่อสุขภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
นอก จากนี้ จากการทำวิจัยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ผลหม่อนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร สำหรับการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเกษตรกร กรมหม่อนไหม ดำเนินการส่งเสริมการปลูกหม่อนแก่เกษตรกรทั้งการปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ประชาชนปลูกหม่อนเป็นผลไม้ประจำบ้าน โดยผู้สนใจปลูกหม่อนผลสดติดต่อสอบถามได้ที่ กรมหม่อนไหม หรือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 21 แห่ง ทั่วประเทศ
การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก