สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เครื่องหมักขยะอินทรีย์ ฝีมือ มก. ใช้ได้ทั้งที่บ้าน และชุมชน

จากเทคโนโลยี่ชาวบ้าน

ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ

เครื่องหมักขยะอินทรีย์ ฝีมือ มก. ใช้ได้ทั้งที่บ้าน และชุมชน

เนื่อง จากครัวเรือน และองค์กรชุมชนต่างๆ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน หอพัก อพาร์ทตเมนต์ ฯลฯ มีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

จากลักษณะ นิสัยและพฤติกรรมที่ยึดติดต่อความสะดวกสบายของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณขยะอินทรีย์เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเมือง และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านทัศนียภาพ กลิ่น และแมลงพาหะนำโรค รวมถึงปัญหาด้านการขาดแคลนพื้นที่กำจัดขยะและวิธีการจัดการที่ไม่เหมาะสม

จึงทำให้ภาครัฐประสบปัญหาทั้งด้านปริมาณและผลพวงของมลพิษสิ่งแวดล้อมจากขยะอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก ปัญหาข้างต้น จึงให้เป็นที่มาของการคิดค้นประดิษฐ์ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ ขึ้น โดยมี ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นเจ้าของผลงาน

ดร. ลักขณา กล่าวว่า การคิดค้นเครื่องหมักขยะอินทรีย์ มุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์ได้สะดวกและจูงใจในการทำปุ๋ยหมัก เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากขยะอินทรีย์ให้เกิดมูลค่าสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการกำจัดขยะอินทรีย์ ณ แหล่งกำเนิด ช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ ลดมลพิษทางกลิ่น และยังช่วยให้ภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเก็บขยะ การขนส่ง และการกำจัดขยะมูลฝอยได้อีกด้วย

ดร. ลักขณา กล่าวต่อไปว่า เครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่ง เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำจัดขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรือน และองค์กรชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น โรงเรียน หอพัก อพาร์ตเมนต์ และตลาดสด เป็นต้น

โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ประเภทเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ และเศษใบไม้แห้งที่มีอยู่ทั่วไปในบ้านเรือนประชาชน

จุด เด่นของเทคโนโลยีคือ ภายในถังหมักมีชุดอุปกรณ์ช่วยผสมเพื่อให้เกิดการชักนำอากาศเข้าสู่กอง ทำให้ขยะอินทรีย์เกิดการย่อยสลายเร็ว ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือน้ำชะขยะ อีกทั้งผู้ใช้สามารถเติมขยะอินทรีย์เข้าสู่ถังหมักได้ทุกวันและทุกเวลาอย่าง ต่อเนื่องจนกว่าจะเต็มถัง

สำหรับการประดิษฐ์คิดค้นนี้ใช้เทคโนโลยี การพลิกกลับกอง เพื่อชักนำอากาศหรือเติมอากาศเข้าสู่กองปุ๋ยหมัก ด้วยชุดอุปกรณ์ช่วยผสมซึ่งใช้ต้นกำลังจากแรงกล หรือใช้ต้นกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน ในกรณีเป็นเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมอัตโนมัติ ให้ตั้งเวลาในการหมุนชุดอุปกรณ์ช่วยผสมเป็นระยะๆ ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง นานครั้งละ 1-3 นาที (ค่าไฟฟ้า ประมาณ 10-30 บาท ต่อเดือน) หากเป็นเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมด้วยแรงกล ให้หมุนชุดอุปกรณ์ช่วยผสมด้วยตนเองในทุกๆ ครั้งที่เติมขยะอินทรีย์เข้าสู่ถังหมัก

จากลักษณะการทำงานของระบบและ การควบคุมสัดส่วนของขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็ว โดยขยะอินทรีย์ในถังหมักจะเกิดการย่อยสลายและเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยหมักได้ภาย ในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์

หากใช้ระบบกวนผสมอัตโนมัติจะเกิดการ ย่อยสลายได้เร็วกว่าระบบกวนผสมด้วยแรงกล เนื่องจากมีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องของการเติมอากาศ ทำให้เอื้อต่อการย่อยสลายขยะอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria)

ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเติมขยะลงถังหมักได้ทุกวันจนกว่าจะเต็มถังจึงนำปุ๋ยหมักออก ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะอินทรีย์ของแต่ละครัวเรือน

สำหรับปุ๋ยหมักที่ ได้นั้น มีปริมาณไนโตรเจนอยู่ในช่วง 2.5-3.0% ฟอสฟอรัส 0.4-1.0% และโพแทสเซียม 0.8-2.0% โดยน้ำหนัก สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปุ๋ยต้นไม้ หรือใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อย่างดียิ่ง ซึ่งปุ๋ยหมักที่ได้มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยหมักของกระทรวง เกษตรและสหกรณ์

กล่าวโดยสรุปคือ สิ่งประดิษฐ์นี้เป็นเครื่องมือผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว เป็นเครื่องมือที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนร่วมในการช่วยลดสภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้งานที่เหมาะสม (Optimun practice) โดยยึดหลักของความง่าย สะดวก และไม่ซับซ้อน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญและจูงใจประชาชนให้ใช้งาน ด้วยคำนึงถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของภาคครัวเรือน โรงเรียน หรือองค์กรชุมชน

และเพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน นักวิจัยจึงดำเนินการผลิตเครื่องหมักขยะอินทรีย์เพื่อการใช้งาน 2 ส่วน คือ

หนึ่ง เครื่องหมักขยะอินทรีย์สำหรับบ้านเรือน แบ่งออกเป็น เครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมอัตโนมัติ และเครื่องหมักขยะอินทรีย์อัตราเร่งแบบกวนผสมด้วยแรงกล ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบมือหมุนกับแบบจักรยาน

สอง เครื่องหมักขยะอินทรีย์สำหรับโรงเรียนหรือชุมชนมี 2 แบบ คือ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่แบบกวนผสมอัตโนมัติ เครื่องหมักขยะอินทรีย์ขนาดใหญ่แบบกวนผสมด้วยแรงกล

นี่คือ ผลงานเด่นที่มาจากนักวิจัยของประเทศไทย สำหรับผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (034) 351-399 ต่อ 432, (081) 398-7095



ราชมงคล คิดเครื่องบีบอัดน้ำมันจากเมล็ดพืชชนิดเกลียวคู่ บีบอัดได้ทุกชนิด

มณีรัตน์ ปัญญพงษ์




โดย ปกติ กรรมวิธีผลิตน้ำมันจากพืช จะมีวิธีการให้ได้น้ำมันจากเมล็ดพืชที่ให้น้ำมันออกมา ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสกัด ซึ่งใช้เวลาน้อย แต่การสกัดก็มีผลเสียคือ บางครั้งอาจมีสารตกค้างจากกระบวนการผลิตหลงเหลืออยู่ อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกากของเสียและสารเคมีที่ใช้ในกระบวน การผลิต

ทั้งนี้ ในการผลิตน้ำมันจากพืชก็ยังมีวิธีการอีกวิธีการคือ กระบวนการบีบอัด ซึ่งจะได้น้ำมันพืชที่มีความบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากสารปนเปื้อนและสารตกค้างอื่นๆ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ปรากฏสารเคมีอันตรายในการผลิต ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักวิจัยซึ่งนำทีม โดย ดร. ผศ. ชลิตต์ มธุรสมนตรี กุลชาติ จุลเพ็ญ (นักวิจัย) อาจารย์ประจักษ์ อ่างบุญตา และ นักศึกษาผู้ช่วยนักวิจัย คือ คุณยุทธนา สมมูล คุณสุชาติ แก่นนาค คุณปิยะพงษ์ เชื้อพราหมณ์ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ศึกษา พัฒนา และประดิษฐ์เครื่องบีบอัดน้ำมันจากเมล็ดพืชแบบเกลียวเดี่ยวคู่ จนสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสมบูรณ์

ความสำเร็จนี้ ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าของผลงานว่า ก่อนหน้านี้ พวกตนได้เคยสร้างเครื่องบีบอัดเมล็ดพืชแบบเกลียวเดี่ยวขึ้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในชุมชน ซึ่งเครื่องเกลียวเดี่ยว ก็สามารถนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้มีความสามารถมากขึ้น เราจึงศึกษาและพัฒนาเครื่องบีบอัดชนิดเกลียวคู่ขึ้นซึ่งมีประสิทธิภาพในการ บีบอัดมากขึ้น สามารถทำงานได้รวดเร็วกว่า และได้ผลผลิตที่สูงขึ้น

อีก ทั้งเครื่องบีบอัดแบบเกลียวคู่ ยังสามารถบีบอัดน้ำมันจากเมล็ดพืชที่ให้น้ำมันได้ทุกชนิด ในขณะที่เครื่องบีบอัดทั่วๆ ไป อาจจะสามารถบีบอัดได้เฉพาะกับบางเมล็ดพืชเท่านั้น

ส่วนตัวเครื่องบีบ อัดน้ำมันแบบเกลียวคู่ที่ประดิษฐ์ขึ้น ผู้วิจัยเล่าว่า ในการทดลองกับเมล็ดพืช พวกตนได้ใช้เมล็ดพืชในการทดลอง 5 ชนิด ด้วยกัน คือ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงาขาว เมล็ดฟักทอง เมล็ดถั่วลิสง และเมล็ดถั่วเหลือง

ซึ่ง ผลที่ได้ หลังจากศึกษาและกำหนดปัจจัยที่มีผลต่อการบีบอัดน้ำมัน 2 ปัจจัย คือ ความเร็วรอบและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก ในการทดลองแต่ละครั้ง จะใช้เมล็ดพืช 500 กรัม ผลที่ได้คือ

เมล็ดทานตะวัน ปริมาณน้ำมันที่ได้สูงสุด 53% ต่อน้ำหนัก ที่ความเร็วรอบ 25 รอบ ต่อนาที ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก 10 มิลลิเมตร

เมล็ดงาขาว ปริมาณน้ำมันที่ได้สูงสุด 83% ต่อน้ำหนัก ที่ความเร็วรอบ 25 รอบ ต่อนาที ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก 10 มิลลิเมตร

เมล็ดฟักทอง ปริมาณน้ำมันที่ได้สูงสุด 52% ต่อน้ำหนัก ที่ความเร็วรอบ 15 รอบ ต่อนาที ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก 15 มิลลิเมตร

เมล็ดถั่วลิสง ปริมาณน้ำมันที่ได้สูงสุด 52% ต่อน้ำหนัก ที่ความเร็วรอบ 25 รอบ ต่อนาที ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก 10 มิลลิเมตร

เมล็ด ถั่วเหลือง ปริมาณน้ำมันที่ได้สูงสุด 14% ต่อน้ำหนัก ที่ความเร็วรอบ 20 รอบ ต่อนาที ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางช่องคายกาก 10 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ ตาม เมล็ดพืช ทั้ง 5 ชนิด เป็นเมล็ดพืชที่กำหนดขึ้นมาทดลองเท่านั้น ผู้วิจัยได้ยืนยันว่า เมล็ดพืชที่ให้น้ำมันนอกเหนือจาก เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงาขาว เมล็ดฟักทอง เมล็ดถั่วลิสง และเมล็ดถั่วเหลือง ก็สามารถนำมาใช้กับเครื่องบีบอัดแบบเกลียวคู่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น กัน



สารพัดช่างลพบุรี กับไอเดียเจ๋ง

เครื่องเผาข้าวหลามไฟฟ้า


ข้าว หลาม เป็นของกินที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ในหลายจังหวัดมีข้าวหลามขึ้นชื่อ เป็นของฝากของที่ระลึกให้ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนได้ซื้อหากลับไปฝากญาติสนิท มิตรสหาย สร้างทั้งอาชีพและรายได้เป็นอย่างดีกันมาอย่างยาวนาน

ภูมิปัญญา ในการทำข้าวหลามนั้นได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่กระบวนการจัดเตรียมวัตถุดิบไปจนถึงการผลิต จนได้ข้าวหลามที่หอม หวาน อร่อยลิ้นมารับประทาน โดยเฉพาะในขั้นตอนของการเผา ที่จะใช้ถ่านและฟืนเป็นเชื้อเพลิง และจากเชื้อเพลิงที่ใช้นี่เองได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการคิดค้นสิ่ง ประดิษฐ์ใหม่ในกระบวนการเผาข้าวหลาม ของวิทยาลัยสารพัดช่างลพบุรี โดยตั้งชื่อว่า เครื่องเผาข้าวหลามไฟฟ้า

เจ้าของสิ่งประดิษฐ์ คือ คุณอนุชา คำคงศักดิ์ และ คุณอำภอ จันทร์ลา แผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยสารพัดช่างลพบุรี คุณครูที่ปรึกษา ประกอบด้วย คุณครูอนงค์ลักษณ์ อาจมังกร คุณครูรุ่งอำไฟ เพศแพง และ คุณครูพีรพงษ์ จันเขียว

เจ้าของ สิ่งประดิษฐ์ได้บอกถึงที่มาของการคิดเครื่องเผาข้าวหลามไฟฟ้าว่า จากการที่ใช้ถ่านและฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการเผาข้าวหลาม ปัญหาที่พบคือ ความยากในการก่อไฟ และเมื่อก่อแล้วจะมีควันไฟ นอกจากจะเข้าตาของผู้ผลิตและผู้ซื้อแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และอีกประการคือ บางครั้งในการเผา ข้าวหลามจะไหม้เป็นบางจุด

จากเหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาของการคิด ค้นจนได้เครื่องเผาข้าวหลามไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องที่ไม่ใช้เชื้อเพลิง แต่ใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน จึงสะดวกต่อการเผา และยังสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายด้วย

เครื่อง เผาข้าวหลามไฟฟ้า มีลักษณะเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งด้านในเครื่องประกอบด้วย มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ หม้อแปลงไฟฟ้า 15 โวลต์ หม้อแปลงไฟฟ้า 9 โวลต์ ลวดความร้อน 2,000 วัตต์ วงจรเร็กติไฟร์ 2 ชุด และเครื่องตั้งเวลา

ในขณะที่เผา นอกจากจะไม่มีควันไฟ และเผาได้ทีละ 6 กระบอก โดยข้าวหลามทุกกระบอกจะสุกเท่าๆ กัน โดยไม่ต้องกลับข้าวหลามอีกด้านหนึ่ง ด้วยการใช้ความร้อนที่คงที่ ข้าวหลามจะไม่ไหม้ เมื่อครบเวลาตามที่ตั้งไว้ ไฟจะตัดเอง จึงทำให้ปลอดภัยต่อการทำงาน ไม่ต้องกลัวข้าวหลามไหม้และเกิดไฟฟ้าดูด

สำหรับระยะเวลาในการเผาด้วยเครื่องดังกล่าว จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที

ผู้ ที่สนใจ ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยสารพัดช่างลพบุรี เลขที่ 100 หมู่ที่ 3 ถนนพหลโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทร. (036) 420-950



ดีเดย์ 16 มิ.ย. 55 แจกบัตรเครดิตเกษตรกร

ธ.ก.ส. เตรียมแจกบัตรเครดิตเกษตรกร 1 ล้านใบ ทั่วประเทศ

ประธาน คสป. ห่วงบางรายสมคบพ่อค้า รูดใช้เงินแทนปุ๋ย


คุณ ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารจะเปิดตัวโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ โดยตั้งเป้าแจกบัตรรอบแรกก่อน จำนวน 1 ล้านใบ ให้แล้วเสร็จในปี 2555 เพื่อเปิดให้เกษตรกรนำบัตรไปซื้อปัจจัยการผลิต 3 อย่าง ได้แก่ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าวและยาฆ่าแมลง และเตรียมแจกอีก 1 ล้านใบ รวมเป็น 2 ล้านใบ ให้แล้วเสร็จใน ปี 2556

ส่วนกรณีที่จะให้นำไปรูดซื้อน้ำมันที่ปั๊ม บางจาก และ ปตท. ได้แบบมีส่วนลดนั้น ยังอยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับการเพิ่มเงื่อนไขในบัตรสินเชื่อให้ใช้ซื้อน้ำมันได้ จะไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย เพราะธนาคารยังกำหนดวงเงินสินเชื่อในบัตรไม่เกิน 60-80% ของผลผลิตส่วนเหลือเผื่อขายเดิม ซึ่งเบื้องต้นจะแจกบัตรสินเชื่อแก่เกษตรกรปลูกข้าวที่มีประวัติการชำระหนี้ ที่ดีก่อน

ปัจจุบัน บัตรสินเชื่อ ธ.ก.ส. มีร้านค้าที่มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 2,000 แห่ง ซึ่งเป็นร้านเครือข่าย ธ.ก.ส. โดยขณะนี้กำลังเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าทั่วไป 1,000 แห่ง ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เข้มงวดร้านค้าไม่ให้มีการรับใช้บัตรที่ผิดวัตถุ ประสงค์ เช่น นำบัตรสินเชื่อเกษตรกรไปรูดเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ถ้าหากมีการตรวจสอบพบเกษตรกรและร้านค้ามีพฤติกรรมดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิ์พร้อมถูกขึ้นบัญชีดำ

ด้าน คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตผู้จัดการ ธ.ก.ส. และในฐานะประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป แสดงความเป็นห่วงว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่ต้องการความสะดวกและอยาก ได้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นจริงๆ ก็สามารถไปรูดบัตรได้ตามวงเงิน แต่เป็นห่วงว่าเกษตรกรบางคนไม่ต้องการปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตจริง แต่ต้องการเงินแล้วสมคบกับพ่อค้าหรือร้านค้า เช่น ใส่ราคาปุ๋ย 5,000 บาท โดยไม่เอาปุ๋ย แต่รับเงินพ่อค้ามา 4,000 บาท แล้วให้พ่อค้าไปหักเงินกับ ธ.ก.ส. ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : เครื่องหมักขยะอินทรีย์ มก. ใช้ได้ทั้งที่บ้าน ชุมชน

view