สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอย ชิมทุเรียนดี... หลงลับแล และหลินลับแล

จากเทคโนโลยี่ชาวบ้าน

พานิชย์ ยศปัญญา

ย้อนรอย ชิมทุเรียนดี... หลงลับแล และหลินลับแล

เมื่อ เดือนมิถุนายน ปี 2534 ทีมงานน้อยๆ ของเทคโนโลยีชาวบ้าน เตาะแตะๆ จากกรุงเทพฯ แวะทำงานเกษตรกรดีเด่นทางด้านเลี้ยงสัตว์ที่จังหวัดกำแพงเพชร จากนั้นเข้าสู่จังหวัดสุโขทัย บ้านเกิดของขุนเดช ที่นี่พวกเราตื่นตาตื่นใจกับกล้วยตานีตัดใบ รวมทั้งงานตีเหล็กของ คุณลุงทวน รอดเจริญศักดิ์ ณ อำเภอศรีสัชนาลัย

วันรุ่งขึ้น จึงก้าวเข้าสู่เมืองลับแล ผู้ที่คอยดูแลและให้ข้อมูล คือ คุณดวงดี อัฐวงศ์ เกษตรอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

สภาพของอำเภอลับแล เมื่อ 21 ปีที่แล้ว แตกต่างจากปัจจุบันไม่น้อย ถนนบางสายยังเป็นลูกรัง บ้านช่องเรือนชานก็ไม่มากอย่างทุกวันนี้

คุณดวงดีพาไปแปลงปลูกทุเรียนของเกษตรกร นามว่า คุณลุงเมือง แสนศรี และ คุณลุงบุญ เกิดทุ่งยั้ง

การ เดินทางไปสวนเกษตรกร เริ่มจากนำรถไปจอดไว้ริมถนน จากนั้นจึงเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขา ช่วงนั้นทีมงานพวกเรายังหนุ่มแน่นจึงเดินได้อย่างสบาย มีผู้ร่วมทางบางคนอายุมากหน่อย เขามีมอเตอร์ไซค์รับส่ง

คุณดวงดี และเกษตรกรพาชม พาชิมทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชะนี หมอนทอง ทุเรียนพื้นเมืองดาวรุ่งมีหลงลับแล หลินลับแล รวมทั้งพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ

การ พูดคุยครั้งนั้น สร้างความเพลิดเพลินให้ผู้สื่อข่าวจากกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เพราะมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพลิดเพลินขนาดไหนนั้น นั่งกันจนมืดค่ำก็แล้วกัน ขาดอะไร...ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็ง ก็วิทยุให้คนขึ้นไปส่งให้ ขาขึ้นเดินได้อย่างสบาย พอขากลับต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้นำเสนอเรื่องราวทุเรียนลับแล ในเดือนสิงหาคม 2534 ช่วงนั้นยังเป็นหนังสือรายเดือนอยู่

เวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง คุณดวงดี อัฐวงศ์ ทราบว่า ระยะหลังย้ายไปอยู่จังหวัดแพร่ ขณะนี้เกษียณราชการแล้ว

หาก ให้คะแนนความประทับใจในการทำงาน ระยะเวลา 22 ปี การไปทำข่าวที่สุโขทัย-ลับแล เมื่อ ปี 2534 ถือว่าติดอันดับ 1 ใน 10 ของความประทับใจในการทำงาน



มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

หลัง นำเสนอเรื่องราวทุเรียนไป เมื่อ ปี 2534 จากนั้นนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านแวะเวียนไปทำงานที่อำเภอนี้หลายครั้งด้วยกัน บางคราวก็พาผู้สนใจไปทัศนศึกษา ในรูปของเสวนาเกษตรสัญจร คนที่ไปด้วยต่างก็ประทับใจในสิ่งที่พบเห็นและเป็นอยู่

ระยะหลังๆ ก็ยังติดตามข่าวที่อำเภอลับแล มีบางช่วงเกษตรกรที่นั่นพบกับความยากลำบาก คือเรื่องของดินถล่ม น้ำพัดพาบ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้หักโค่น แต่เกษตรกรก็ยังยืนหยัด ทำในสิ่งที่ตนเองมีอยู่อย่างไม่ย่อท้อ

ถึง แม้มีข่าวความยากลำบาก แต่ก็ยังมีข่าวดี คือเกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาดี คนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ นิยมชมชอบทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล ทุเรียนหมอนทอง ชะนี รวมทั้งลองกอง ก็จำหน่ายได้ราคาดีขึ้น สิ่งที่เป็นอยู่ นอกจากเกษตรกรผลิตสิ่งที่มีคุณภาพแล้ว หน่วยงานราชการ ทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนแนะนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น ให้คนทางไกลได้รับทราบ

ทุกวันนี้ ผลผลิตของชาวอำเภอลับแล มีชื่อเสียง รู้จักกันดี จนผลผลิตไม่สมดุลกับความต้องการของผู้บริโภค คือของมีน้อยกว่าความต้องการของผู้ซื้อนั่นเอง



ย้อนรอยไปชิมทุเรียน

หลงลับแล และ หลินลับแล


ต้นฤดูฝนของ ปี 2555 ฝนมาช้านิดหนึ่ง

วัน ที่ 26-28 พฤษภาคม มีกำหนดการต้องขึ้นเหนือ ไปจังหวัดสุโขทัย และเชียงใหม่ นึกขึ้นได้ว่า ไม่เคยแวะเวียนไปที่อุตรดิตถ์หลายปีแล้ว จึงเพิ่มจังหวัดที่ต้องผ่านเป็นอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย แล้ววกมาเชียงใหม่ ขาดจังหวัดเดียวที่ไม่ได้ผ่านทางไป คือ แม่ฮ่องสอน

ออก จากสุโขทัยเที่ยงเศษๆ ขับรถผ่านอำเภอศรีสำโรงและสวรรคโลก เห็นใบกล้วยตานีเขียว ปีนี้แล้งน้อยกว่าปีที่แล้ว สวนกล้วยส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่

เลยอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยเพียงเล็กน้อยมีสามแยก หากตรงไป คืออำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เลี้ยวขวาไปจังหวัดอุตรดิตถ์

ถนน จากศรีสัชนาลัย-อุตรดิตถ์ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมร่มรื่นมาก ต้นสักสองข้างทางมีใบแน่นหนา รถมีวิ่งไปมาไม่มาก ก่อนถึงตัวเมืองอุตรดิตถ์ไม่ถึง 10 กิโลเมตร ขวามือเป็นวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ซ้ายมือเป็นทางเลี้ยวเข้าอำเภอลับแล

เนื่องจากเป็นช่วงผลไม้ อำเภอลับแลจึงดูคึกคัก มีรถกำลังขนผลผลิตกันมาก

ก่อน ถึง "ตลาดหัวดง" ราว 200 เมตร มีทางเลี้ยวขวาไปตำบลแม่พูล แนะนำกันตรงนี้นิดหนึ่ง ตลาดหัวดง เป็นตลาดกลางซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรใหญ่ที่สุดในอำเภอลับแล

ขับรถ ไปตามเส้นทางเล็กๆ ผ่านวัด ไม่นานนักก็ถึงที่หมาย คือบ้านของคุณลุงบุญ เกิดทุ่งยั้ง อยู่บ้านเลขที่ 73/1 หมู่ที่ 7 ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

คุณลุงบุญ เกิดทุ่งยั้ง และคุณลุงเมือง แสนศรี ถือว่าเป็นสองเฒ่าผู้ยิ่งใหญ่ในวงการทุเรียนลับแล

เพียง แต่ยกมือไหว้ ทักทาย คุณลุงบุญไปหยิบทุเรียนหลงลับแลมาจะผ่าให้พิสูจน์ บอกคุณลุงไปว่า ยังไม่ต้องก็ได้ ขอคุยและถามสารทุกข์สุขๆ กันก่อน

คุณ ลุงบอกว่า งานสวนทุกวันนี้ ดีกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะราคา เรื่องฝนฟ้าไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะปกติก็ไม่ต้องรดน้ำอยู่แล้ว เพราะทุเรียนที่อำเภอลับแล ปลูกตามเชิงเขา บางแห่งอาจจะปลูกอยู่บนยอดเขาเตี้ยๆ ด้วยซ้ำไป

ถามถึงผู้เฒ่าอีก ท่านหนึ่ง คือ คุณลุงเมือง แสนศรี คุณลุงบุญบอกว่า คุณลุงเมืองเสียชีวิตไป เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผู้ที่สืบทอดงานต่อคือ กำนันฉลาด แสนศรี ลูกชายคุณลุงเมืองนั่นเอง

ถึงแม้วัยล่วงเลยถึง 79 ปีแล้ว แต่คุณลุงบุญยังแข็งแรง แกะทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลให้ผู้ไปเยือนได้ชิม

"หลง ลับแลมี 2 อย่าง...ชิมที่สุกๆ นี่ก่อน แล้วชิมห่ามๆ อย่างไหนอร่อยกว่ากัน...นี่หลินลับแลลองดู" คุณลุงบุญพูดแนะนำ พร้อมกับใช้พลังในการแกะทุเรียนผลที่ยังห่าม ถึงแม้แกะยาก แต่ก็ไม่พ้นฝีมือคุณลุงไปได้

หลังได้ชิมทุเรียนรสชาติดีจริงๆ ไม่ต่างจาก ปี 2534

ถามผู้ติดตาม ว่าที่นิสิตภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วัยรุ่นตอบเบาๆ ว่า "หลินลับแลอร่อย..."



ราคาจูงใจ

คุณ ลุงบุญบอกว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนของตนเอง อยู่ใกล้ลำห้วย การสุกแก่จึงค่อนข้างช้า เมื่อ วันที่ 26 พฤษภาคม ทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลแทบยังไม่ได้เก็บขาย ที่ออกมากหน่อย คือ ทุเรียนหมอนทอง

สวนของคุณลุงปลูกทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลไว้ราว 300 ต้น แต่เมื่อไม่นานมานี้ ถูกลมพัดโค่นไป 70 ต้น ปกติหากไม่มีพายุ ปีหนึ่งจะเก็บผลผลิตได้ราว 4,000 ผล ต่อปี เฉพาะทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแล

คุณทินกร เกิดทุ่งยั้ง ลูกชายของคุณลุงบุญ บอกว่า ต้นที่ล้มน่าเสียดายมาก เพราะอายุของต้น 30-40 ปีแล้ว หากไปยกต้นให้ตั้งขึ้น จะทำให้รากโยกขาด ต้นทุเรียนตายได้ ดังนั้น ต้นที่ล้มจึงเสียหายเกือบหมด

ถามถึงราคาซื้อขาย...ปีนี้เป็นอย่างไร

คุณลุงบุญบอกว่า ทุเรียนหลงลับแลจากสวนขายกิโลกรัมละ 60-80 บาท ส่วนหลินลับแลจากสวน 100-120 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของในตลาด

สำหรับต้นพันธุ์ คุณลุงบุญบอกว่า ขายต้นละ 50 บาท

คุณ ทินกร ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่สืบทอดงานจากบรรพบุรุษได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากผลิตทุเรียนแล้ว เจ้าตัวยังปลูกมะยงชิดหลายสายพันธุ์ จำหน่ายทั้งผลผลิตและต้นพันธุ์ มะยงชิดของคุณทินกรมีพันธุ์สุวรรณบาตร จัมโบ้ สมบูรณ์พร้อม และทูลเกล้า สนนราคาก็มิตรภาพจริงๆ 100 บาท

ราคา ขายสิ่งที่มีอยู่ของคุณลุงบุญ เมื่อเปรียบเทียบกับข้างนอกแล้ว ถือว่าไม่แพงแต่อย่างใด ไปแวะซื้อถึงถิ่น รับรองว่าได้ของดี คุณลุงบอกว่า กิ่งพันธุ์มีคนซื้อไปปลูกกันมาก ที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ผู้ สนใจซื้อหาผลผลิต จากสวนคุณลุงบุญ นิตยสารเล่มนี้ออกวางแผง วันที่ 15 มิถุนายน 2555 คาดว่า ยังพอมีให้ซื้อหากัน ถามได้ที่ (086) 203-6645 และ (055) 457-172



ทุเรียนหลงลับแล

ทุเรียน พันธุ์หลงลับแล ต้นเดิมขึ้นอยู่ที่ม่อนน้ำจำ หมู่ที่ 7 บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เจ้าของเดิมคือ นายลม-นางหลง อุประ บ้านเลขที่ 126 หมู่ที่ 1 บ้านนาปอย เขตเทศบาลหัวดง ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนที่ปลูกจากเมล็ด ซึ่งร่วมดำเนินการจัดประกวดระหว่างกรมวิชาการการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2520 และได้รับรองพันธุ์ ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2521 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะประจำพันธุ์ จากการศึกษาลักษณะพันธุ์ประจำพันธุ์โดยวิธีเสียบยอด ทุเรียนหลงลับแลมีอายุต้น 15 ปี สูง 11.7 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางพุ่ม 8 เมตร แผ่นใบเรียบแผ่ออกจนเกือบแบนราบ ใบเป็นรูปขอบขนาน (Oblong) อัตราส่วนความยาวต่อความกว้างใบ เท่ากับ 3 : 19 : 1 ปลายใบสอบแหลม (Acuminate) โคนใบมน (Obtuse) หลังใบสีเขียวอมสีเหลือง (Yellow Green 146A-147A) กลีบดอกมีสีขาวอมสีเขียว (Green White Green.157A) ผลมีขนาดเล็กถึงปานกลาง น้ำหนักผล 0.5-3.5 กิโลกรัม ต่อผล ทรงผลกลม (Round) หรือรูปไข่ (Ovold) ฐานผลค่อนข้างกลม (Evenly Round) หรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย (Sort Necked) ตรงบริเวณหนามรอบขั้วผลปลายผลมน (Obtuse) หรือกลม (Round) ก้านผลมีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1 : 63 เซนติเมตร หนามผลทรงปิระมิด

ขอบหนามโค้งเข้า (Concave Pointed) เปลือกผลมีสีเขียวอมเหลือง (Yellow Green 146A-146C) ร่องพูไม่ชัดเจนเนื้อละเอียด สีเหลืองค่อนข้างจัด (Yellow Group 8B-11C) รสชาติหอมหวานมัน กลิ่นอ่อน อัตราส่วนน้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผล 0.35 : 1 และใน 1 ผล มีเมล็ดลีบ เฉลี่ยร้อยละ 97.5 อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 105-110 วัน (นับตั้งแต่วันดอกบานจนถึงผลแก่ตัดได้)



ทุเรียนหลินลับแล

ทุเรียน พันธุ์หลินลับแล ต้นเดิมปลูกโดย นายหลิน ปันดาล บ้านเลขที่ 126 หมู่ที่ 7 บ้านผามูบ ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวคือ ใน ปี พ.ศ. 2493 นายหลิน ปันดาล ได้นำเมล็ดทุเรียนมาปลูกแล้วเกิดการกลายพันธุ์ มีลักษณะที่แปลกกว่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ จึงนำให้เพื่อนบ้านกินกัน หลายคนบอกว่ามีรสชาติดี ต่อมา ใน ปี พ.ศ. 2520 เจ้าของต้นเดิมได้ส่งทุเรียนพันธุ์นี้เข้าประกวดในการประกวดทุเรียนที่ปลูก จากเมล็ด ซึ่งร่วมดำเนินจัดการประกวดระหว่างกรมวิชาการการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดอุตรดิตถ์

เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายหลิน ปันดาล ผู้ปลูกทุเรียนต้นเดิมจึงตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์นี้ว่า "หลินลับแล" และประกอบกับต้นเดิมขึ้นอยู่ที่บ้านผามูบจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ผามูบ 1" หลังจาก นายหลิน ปันดาล ถึงแก่กรรม ต้นเดิมจึงอยู่ในความดูแลและขยายพันธุ์โดย นายสว่าง ปันดาล บุตรชาย

ลักษณะ ประจำพันธุ์ จากการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์หลินลับแล ใน ปี พ.ศ. 2543 พบว่า ต้นเดิมมีอายุประมาณ 50 ปี สูง 13 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 680 เซนติเมตร ทรงพุ่มรูปกองฟาง เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 15 เมตร

ใบเป็น รูปขอบขนาน (Oblong) จนถึงรูปหอกแกมรูปไข่ (Ovate-lanceolate) อัตราส่วนยาวต่อความกว้างใบเท่ากับ 2.85-3.861 ปลายใบสอบแหลม (Acuminate) หรือสอบแหลมโค้ง (Acuminate-curve) โคนใบมน (Obtrse) หลังใบเขียวแกมเหลือง (Yellow Green Group 146A-147A) กลีบดอกรูปค่อนข้างสั้น อัตราส่วนความยาวต่อความกว้างกลีบดอก เท่ากับ 2 : 6 : 1 กลีบดอกมีสีเหลือง (Yellow Group 8C-13D)

ผลมีขนาดเล็ก น้ำหนักผล 1.1-1.8 กิโลกรัม ผลทรงกระบอก (Cylindroidal) ฐานผลเว้าลึก (Deeply depressed) ปลายผลตัด (Truncate) ก้านผลมีขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.38 เซนติเมตร) หนามผลโค้งแหลม คม (Hooked) เปลือกผลสีเขียวอมเหลือง (Yellow Green Group 144A-152) เนื้อละเอียดมาก สีเหลืองอ่อน (Yellow Group 8D -11D) รสชาติหอมหวาน กลิ่นอ่อนมาก อัตราส่วนน้ำหนัก เนื้อต่อน้ำหนักผล เท่ากับ 0.13 : 1 และใน 1 ผล มีเมล็ดลีบเฉลี่ย ร้อยละ 71.4 อายุการเก็บเกี่ยวผล ประมาณ 110-115 วัน (นับตั้งแต่วันดอกบานจนถึงผลแก่ตัดได้)

ที่มา : http://www.uttaradit.go.th/phpbb/viewtopic.php?f=2&t=146


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ไม้,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : ย้อนรอย ชิมทุเรียนดี หลงลับแล หลินลับแล

view