สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดูงาน โครงการตามพระราชดำริ ป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ตอนที่ 1)

จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน



เศรษฐกิจพอเพียง


วสันต์ สุขสุวรรณ

ดูงาน โครงการตามพระราชดำริ ป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ตอนที่ 1)

สถาบัน เกษตราธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับกลาง รุ่นที่ 53 ขึ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม ถึง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จากสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 111 คน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้บริหารระดับต้น ให้เข้าใจบทบาทตนเอง มีภาวะผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถและทักษะในด้านการบริหารอย่างถูกต้อง เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความเชี่ยวชาญในงานทั้งในทางกว้างและลึก สำหรับการก้าวสู่การเป็นผู้บริหารในระดับนโยบาย สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ สร้างและนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในหน่วยงานได้อย่างจริงจัง สามารถยกระดับองค์กรให้มีขีดสมรรถนะด้านการจัดการสูง มีความเชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ทางการบริหารจัดการ โดยมีแนวคิดพื้นฐานเรื่องการบริการที่เป็นเลิศ และการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การบริหารราชการมีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ สามารถนำประเทศให้ก้าวสู่การแข่งขันระดับสากลทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นอก จากนี้ การฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวยังมุ่งเน้นในการเพิ่มพูนทักษะในการสร้างแรงจูง ใจและพัฒนาประสิทธิภาพทีมงานและองค์กรได้ อีกทั้งสร้างเครือข่ายและพันธมิตร เพื่อเพิ่มพลังในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การฝึกอบรม แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงแรก ปฐมนิเทศ ณ สวนนงนุช จังหวัดชลบุรี ช่วงที่สองการบรรยายและฝึกปฏิบัติ ณ โรงแรมเอบีนา เฮาส์ กรุงเทพฯ ช่วงที่สาม ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และ สปป. ลาว และช่วงที่สี่ เป็นการปัจฉิมนิเทศ นำเสนอผลงานและประเมินผลการฝึกอบรม

ผู้ เขียนเป็น 1 ใน 111 คน ที่เข้ารับการฝึกอบรม จากการศึกษาดูงาน ในช่วงวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2555 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และ สปป. ลาว เห็นว่าการศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์อำนวยการประสานงานโครงการป่าดงนาทาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีสาระที่ควรค่าที่พี่น้องเกษตรกรจะได้รับทราบในวงกว้างเพื่อนำไปประยุกต์ ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรเอง จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ



โครงการป่าดงนาทาม

อันเนื่องมาจากพระราชดำริ


โครงการ ป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มี พันเอกธเนศ วงศ์ชอุ่ม เป็นหัวหน้าโครงการ มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาอาชีพ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย

ด้าน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้จัดตั้งโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ใน โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกรและผู้ที่สนใจ แบ่งการเรียนรู้ เป็นฐานด้านต่างๆ ได้แก่ น้ำส้มควันไม้จากเตาเศรษฐกิจ ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์อย่างง่าย การเพาะเห็ดด้วยขอนไม้ น้ำยาอเนกประสงค์ ฮอร์โมนผลไม้ อิฐบล็อกดินประสาน บ้านตัวอย่างเพื่อขยายผลการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในครัว เรือนเกษตรกร จึงขอนำเสนอขั้นตอนและวิธีการในการผลิตทำน้ำส้มควันไม้ รายละเอียดดังนี้



การทำน้ำส้มควันไม้

วัสดุอุปกรณ์


1. ถัง 200 ลิตร (ถังแกลลอนน้ำมัน)

2. ท่อซีเมนต์ใยหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1 เมตร (ความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม)

3. กระบอกไม้ไผ่ สำหรับเป็นท่อของการไหลของน้ำส้มควันไม้ ยาวประมาณ 3-5 เมตร ตามความเหมาะสม

4. ไม้ที่จะเผาถ่าน ควรเป็นกิ่งไม้ที่ไม่ใหญ่มาก และเป็นไม้ที่มีความหมาด คือเป็นไม้ที่ตัดทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือมากกว่า เนื่องจากไม้ที่ตัดสดใหม่จะเผาใช้เวลานานกว่า

ขั้นตอน/วิธีทำ

1. นำถัง 200 ลิตร มาเจาะขอบถังให้ฝาถังเปิดได้ แล้วเจาะรูข้างหน้า 20x20 เซนติเมตร ส่วนก้นถังเจาะรูวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 4 นิ้ว สำหรับใส่ข้องอ

2. ตั้งเตาให้ด้านหน้าถังแหงนขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้ระบายน้ำออก ด้านหลังยังไม่ต้องปิด แล้วเทดินเหนียวประคองด้านหน้าเตาพอประมาณ เพื่อไม่ให้เตาขยับเขยื้อน

3. ประกอบข้องอใยหิน 90 องศา โดยให้ด้านที่ใหญ่ที่สุดสวมเข้าไปในช่องที่เจาะไว้ ในด้านท้ายของตัวเตา และสวมท่อใยหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเดียวกันกับข้องอที่ประกอบไว้ท้ายเตา

4. ปิดผนังเตาด้านหลัง โดยให้ผนังเตาห่างจากข้องอประมาณ 10-15 เซนติเมตร

5. นำดินเหนียวประสานรอยรั่วให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปข้างในและป้องกันไม่ให้เกิดการลุกติดไฟ

6. นำดินเหนียวหรือดินทรายที่เตรียมไว้เทลงให้เต็มด้านข้างและด้านหลังในช่อง ว่างระหว่างเตากับผนังเตาด้านหลังพอประมาณทั้ง 3 ด้าน เพื่อเป็นฉนวนกันไฟให้กับตัวเตา และไม่ให้ความร้อนระเหยออกไป โดยเว้นช่องฝาหน้าเตาเอาไว้เพื่อปิด/เปิด

7. นำกระเบื้องหรือสังกะสีหรือแผ่นไม้เก่ามากั้นดินด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมทั้งปิดเสาค้ำยันด้านละ 2 ท่อน

8. ตัดไม้เพื่อทำเป็นหมอนหนุนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ยาว 20-25 เซนติเมตร จำนวน 3 ท่อน วางขวางด้านล่างของตัวเตา โดยมีระยะห่างเท่ากัน เพื่อให้มีการไหลเวียนของลมร้อนภายในเตา

9. การคัดเลือกไม้เข้าเตาถ่าน จะมีการจัดแยกกลุ่มของขนาดไม้เป็น 3 กลุ่ม คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเรียงไม้ขนาดเล็กไว้ด้านล่างของเตา ทับไม้หมอนไว้ ไม้ท่อนใหญ่ไว้ด้านบน เนื่องจากอุณหภูมิในเตาขณะเผาถ่านไม่เท่ากัน โดยอุณหภูมิด้านล่างสุดของเตาจะต่ำ และอุณหภูมิด้านล่าง-บนจะสูงกว่าอุณหภูมิท้ายเตา

10. เมื่อเรียงไม้เสร็จแล้วให้ปิดฝาเตาถังด้านหน้า โดยให้ช่องที่เจาะไว้อยู่ด้านล่างของตัวเตาถัง แล้วนำดินมาประสานขอบถังและฝาถัง เพื่อไม่ให้อากาศเข้าไปในถัง เพราะถ้าอากาศเข้าไปในเตาจะทำให้ถ่านไหม้จนหมด

11. การเข้าสู่ขั้นตอนการเผาถ่าน จะเริ่มจุดไฟหน้าเตาเพื่อให้ความร้อนแก่เตา โดยจุดบริเวณช่องจุดไฟที่อิฐก้อนแรก โดยเชื้อเพลิงที่นำมาจุดควรเป็นเชื้อเพลิงแห้ง เช่น เศษไม้ เศษหญ้า หรือโฟม เป็นต้น

12. ใส่เชื้อเพลิงทีละน้อยเพื่อลดความร้อน จะกระจายเข้าไปในเตาเพื่อไล่อากาศเย็นและความชื้นที่อยู่ในเตา โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง

13. เมื่อไล่ความชื้นในเตาแล้วอุณหภูมิจะสูงขึ้น จนทำให้เนื้อไม้ในเตารักษาอุณหภูมิในเตาได้เอง โดยไม่ต้องใส่เชื้อเพลิงเข้าไปอีก โดยสังเกตจากควันที่ออกมาจากปากปล่องด้านหลังจะพุ่งแรงกว่าปกติ เรียกว่า "ควันบ้า" มีสีขาวขุ่น ช่วงนี้สามารถหรี่ไฟหน้าเตาลงได้ครึ่งหนึ่ง

14. หลังจากนั้น ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือสังเกตสีควันที่ปากปล่อง ถ้าเป็นสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นฉุนแสบจมูก ให้หรี่ไฟลงอีก ช่วงนี้เริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ท่อไม้ไผ่ที่เจาะรูไว้ตลอดทั้งลำ โดยนำขวดน้ำผูกลวดแขวนรองน้ำส้มควันไม้ตรงจุดที่เจาะรูไว้ จะสามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ได้ประมาณ 3-4 เดือน เมื่อน้ำที่หยดมามีลักษณะเป็นยางเหนียวและมีสีดำ ให้หยุดเก็บ

15. ผลผลิตถ่านที่ได้จากเตาถัง 200 ลิตร ประมาณ 20-22 กิโลกรัม มีคุณภาพสูง และเตาเผาสามารถเผาได้ประมาณ 100-150 ครั้ง หรือประมาณ 2-3 ปี (ขึ้นอยู่กับความถี่ของการใช้งาน) โดยนำถ่านที่ได้ใส่ถุงหรือกระสอบ แล้วนำไปเก็บที่ไม่มีความชื้น ไม่มีความร้อนสูงเกินไป รวมทั้งไม่มีแสงแดดส่อง หรืออากาศถ่ายเทสะดวก

การทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ สามารถทำได้ 3 วิธี คือ

1. ปล่อยให้ตกตะกอน โดยนำน้ำส้มควันไม้มาเก็บในถังทรงสูง มีความสูงมากกว่าความกว้างประมาณ 3 เท่า และทิ้งให้ตกตะกอน ประมาณ 90 วัน น้ำส้มควันไม้ก็จะตกตะกอนแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นน้ำมันใส (light oil) ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชา คือ น้ำส้มควันไม้ และชั้นล่างสุดจะเป็นของเหลวข้นสีดำคือน้ำมันดิบ หากนำผงถ่านมาผสมประมาณ 5% โดยน้ำหนัก ผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใสและน้ำมันดิบให้ตกตะกอนลงสู่ชั้นล่างสุดในเวลา ที่เร็วขึ้น ประมาณ 45 วัน แต่ทั้งนี้อาจมีสารบางตัวที่เป็นประโยชน์ออกไปบ้างและค่า ph หรือค่าความเป็นกรดเป็นด่างอาจเปลี่ยนไป

เมื่อปล่อยให้น้ำส้มควันไม้ ตกตะกอนจนครบกำหนด ใช้ระยะเวลา 3 เดือน แล้วจึงนำน้ำส้มควันไม้มากรองอีกครั้งด้วยผ้ากรอง แล้วจึงนำมาใช้ประโยชน์

2. การกรอง โดยใช้ผ้ากรองหรือถังถ่านกรองที่ใช้ผงถ่านกัมมันต์ (Activated charcoal) ซึ่งคุณสมบัติแตกต่างกันไป เพราะถ่านกัมมันต์จะลดความเป็นกรดของน้ำส้มควันไม้

3. การกลั่น โดยกลั่นได้ทั้งในความดันบรรยากาศ และกลั่นแบบลดความดัน รวมทั้งกลั่นแบบลำดับส่วนเพื่อแยกเฉพาะสารใดสารหนึ่งในน้ำส้มควันไม้มาใช้ ประโยชน์ ส่วนมากมักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยา

อย่างไรก็ตาม ทั้งการกรองและการกลั่นต้องทำหลังจากการตกตะกอนแล้วเท่านั้น เนื่องจากต้องรอให้เกิดปฏิกิริยาในน้ำส้มควันไม้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก่อน

ประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

1. ใช้ในครัวเรือน

ความเข้มข้น 100% - รักษาแผลสด น้ำร้อนและไฟลวก น้ำกัดเท้า เชื้อราที่ผิวหนัง

ผสมน้ำ 20 เท่า - ราดฆ่าปลวกและมด

ผสมน้ำ 50 เท่า - ป้องกันปลวก มด และสัตว์ต่างๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ

ผสมน้ำ 100 เท่า - ดับกลิ่นในห้องน้ำ ครัว และบริเวณชื้นแฉะ ดับกลิ่น

2. ใช้ในการเกษตร

ผสมน้ำ 20 เท่า - ใช้พ่นลงดินก่อนการเพาะปลูก 10 วัน ฆ่าเชื้อราโรคโคนเน่า

ผสมน้ำ 50 เท่า - พ่นลงดิน ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ที่เข้าทำลายพืช

ผสมน้ำ 200 เท่า - ฉีดพ่นที่ใบ ช่วยขับไล่แมลง กำจัดเชื้อรา และกระตุ้นความต้านทานโรคของพืช

ผสมน้ำ 500 เท่า - ฉีดพ่น 15 วัน หลังติดผล ช่วยให้ผลโตขึ้น ฉีดพ่นก่อนเก็บ 20 วัน

ผสมน้ำ 1,000 เท่า - ผสมสารจับใบป้องกันหนอนแมลง

3. ใช้ในปศุสัตว์

ผสมน้ำ 100 เท่า - ลดกลิ่นและแมลงในคอกสัตว์

ใช้ ผสมอาหารสัตว์ - ยับยั้งการเกิดแก๊สในกระเพาะ ป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย เพิ่มปริมาณน้ำนม ลดกลิ่นมูลสัตว์ ปรับปรุงคุณภาพเนื้อสัตว์ให้รสดี

เพื่อ ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบรายละเอียดตามฐานการเรียนรู้ด้านอื่นด้วย จึงขอนำเสนออีกตอนในฉบับหน้านะครับ จะว่าด้วยเรื่องการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ การเพาะถั่วงอก และการทำน้ำยาล้างจาน

ขอขอบคุณ พันเอกธเนศ วงศ์ชอุ่ม หัวหน้าโครงการ และ จ่าสิบเอกจิระศักดิ์ มาลี เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โครงการป่าดงนาทาม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โทร. (045) 323-417 ที่กรุณาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ในครั้งนี้ครับ

Tags : ดูงาน โครงการตามพระราชดำริ ป่าดงนาทาม วารินชำราบ อุบลราชธานี

view