สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขื่อนทำให้น้ำท่วมจริงหรือ?

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

หลังจากมหาอุทกภัยในปี 2554 ผ่านไป ทิ้งร่องรอยความบอบช้ำให้กับประเทศไทย ความเสียหายเกิดขึ้นมหาศาล  และมีคำถามตามมาว่า มหาอุทกภัยครั้งนี้เกิดจากอะไร..?
เขื่อน..หลายแห่งที่สร้างคุณประโยชน์มากมายในอดีต กลายเป็นจำเลย ถึงขั้นพูดกันว่า “...ไม่จำเป็นจะต้องมีเขื่อน  เพราะมีเขื่อนก็ปล่อยน้ำออกมาอยู่ดี  สู้ให้น้ำไหลลงมาตามธรรมชาติจะดีกว่า ยังไงน้ำก็ท่วมเหมือนกัน ดังนั้นควรจะทบทวนแผนการสร้างเขื่อนใหม่ได้แล้ว...”

นี่คือความเข้าใจที่ผิด...อย่างรุนแรง!!!!

เรามาทำความรู้จักนิยามของคำว่าเขื่อนก่อนเขื่อนคือ  สิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นปิดกั้นทางไหลของน้ำ  เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ไม่ให้น้ำไหลออกสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์  ชะลอการไหลของน้ำและลดปริมาณน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม  ใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อบรรเทาภัยแล้งและเพิ่มพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ยังใช้ผลักดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย

หากเขื่อนไม่มีประโยชน์แล้ว มาก กว่าครึ่งหนึ่งของแม่น้ำสายหลักทั่วโลกจะมีเขื่อนกั้นไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งหรือ?

ในฤดูฝน หรือฤดูมรสุมนั้น ฝนจะตกกระจายทั่วไปทั้งในพื้นที่เหนือเขื่อน และท้ายเขื่อน ในส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนนั้น เขื่อนจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ ไม่ให้ไหลลงมาสมทบกับน้ำฝนที่ตกใต้เขื่อน อย่างเช่นฤดูฝนปี 2554 ที่ผ่านมา เขื่อนที่มีผลกระทบต่อลุ่มเจ้าพระยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนกิ่วลม  เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  ต่างก็ทำหน้าที่กักเก็บน้ำไว้ทั้งหมด

เมื่อน้ำเต็มเขื่อนแล้วถึงปล่อยออกมา ซึ่งน้ำจำนวนนี้หากไม่มีเขื่อนก็ต้องไหลลงมาตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะไม่ใช่แค่น้ำส่วนที่เกินปริมาณการกักเก็บเท่านั้น จะเป็นปริมาณน้ำทั้งหมดของลุ่มน้ำที่ไหลลงมา

หากเป็นเช่นนี้จริง...ไม่อยากจะคิดเลยว่ามหาอุทกภัยในปี 2554 จะรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่แค่ไหน?

นายฎลงกรณ์ สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำที่ท่วมลุ่มเจ้าพระยานั้น มีคนพยายามจะโทษการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน กลับไม่มองว่าปริมาณน้ำที่มีมากกว่าปกติ ซึ่งมีตัวเลขยืนยันชัดเจนว่า มีปริมาณน้ำถึง 45,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปกติทุก ๆ ปีจะมีน้ำในการบริหารจัดการเฉลี่ยประมาณ 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

......เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งในปี 2555 พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาสามารถปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะการทำนาปรังได้เต็มพื้นที่ เพราะมีน้ำในเขื่อนที่อุดมสมบูรณ์นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การจัดสรรน้ำเพื่อทำนาปรังในช่วงฤดูปีนี้ กรมชลประทานกำหนดแผนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาได้เต็มที่ ประมาณกว่า 9.5 ล้านไร่ เพียงแต่ขอให้เกษตรกรทำนาปรังเร็วขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ อย่างช้าไม่เกินเดือนเมษายน 2555 หลังจากนั้นประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2555 ให้ทำนาปีต่อเนื่องทันที เพื่อเก็บเกี่ยวให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 จากนั้นให้เกษตรกรต้องพักการทำนา รอจนถึงเดือนธันวาคม 2555 ค่อยทำนาปรังอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวได้รับความเสียหายหากเกิดภาวะน้ำท่วม

ถามว่าหากไม่มีเขื่อน จะสามารถกำหนดระยะเวลาในการทำนาปรังหรือปลูกพืชฤดูแล้ง และการทำนาปี เช่นนี้ได้หรือไม่ ?

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่ใหญ่  น้ำที่ไหลลงสู่ลุ่มน้ำแห่งนี้มีหลายสาขา ทั้งที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำสร้างเขื่อนแล้ว และยังไม่ได้มีการพัฒนา เช่น ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำแม่วงก์ เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้มีคนที่ไม่เข้าใจมองเขื่อนว่า ไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

แต่ถ้ายกตัวอย่างลุ่มน้ำเล็ก ๆ ที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำค่อนข้างสมบูรณ์ อย่างเช่น ลุ่มน้ำคลองท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา  ซึ่งเป็นสาขาของลุ่มน้ำบางปะกงแล้วจะเข้าใจประโยชน์ของเขื่อนหรืออ่างเก็บ น้ำยิ่งขึ้นลุ่มน้ำคลองท่าลาด มีต้นน้ำที่สำคัญคือ คลองสียัด และคลองระบม ที่กรมชลประทานได้เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำโดยก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำคลองระบม เป็นอ่างฯ ขนาดกลาง ความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร ขึ้นที่ ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต เสร็จเมื่อปี 2533 และ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด ซึ่งเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ ความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร  ที่ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ แล้วเสร็จในปี 2543 โดยมี ฝายท่าลาด ตำบลเกาะขนุน  อำเภอพนมสารคาม ทำหน้าที่ทดน้ำเพื่อส่งให้กับพื้นที่การเกษตร

ในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัย แต่พื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาด ประสบปัญหาน้ำท่วมน้อยมาก อ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มความจุ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม อำเภอแปลงยาว อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอราชสาส์น อำเภอบางคล้า   จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนัสนิคม และอำเภอพานทอง  จังหวัดชลบุรี ที่อดีตเคยท่วมทุกปีได้อย่างเป็นรูปธรรมและที่สำคัญในฤดูแล้งปี 2555 กรมชลประทานสามารถจัดสรรน้ำส่งให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเฉพาะนาปรังได้เต็มพื้นที่กว่า 180,000 ไร่ เมื่อมองประโยชน์ของเขื่อนในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ไม่ชัดเจน ลองมามองประโยชน์ที่ลุ่มน้ำเล็ก ๆ ได้รับจากประโยชน์การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ แล้วค่อยขยายภาพไปมองลุ่มน้ำขนาดใหญ่ น่าจะทำให้เข้าใจประโยชน์อันมหาศาลที่ได้รับจากเขื่อนยิ่งขึ้น.


รักษ์ไม้,ไม้เก่าเขาใหญ่,ปุ๋ยอินทรีย์,มูลไส้เดือนดิน

Tags : เขื่อนทำให้น้ำท่วมจริงหรือ

view