สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนรักผัก

จาก เทคโนโลยีชาวบ้าน

สุมิตรา จันทร์เงา

"ฟาร์มล่ม" อย่าให้คนจมน้ำตามไปด้วย

ชีวิตในภาวะประสบภัย ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ ล้วนมีสภาพไม่แตกต่างของความพยายามดิ้นรนอย่างจนตรอกเพื่อเอาชีวิตรอด

แม้ปลายทางจะมองไม่เห็นชัยชนะ แต่ยังไงก็ต้องสู้จนวินาทีสุดท้าย

หลาย คนสู้เพื่อพิสูจน์ศรัทธาของตัวเองต่อฟ้าดิน สู้เพื่อที่จะเรียนรู้ธรรมชาติให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่รวมกันเป็นมวลสารมหึมาของดาวโลก

ความพ่ายแพ้ร่วมกันของ คนไทยนับล้านๆ คนต่อมหาอุทกภัยในคราวนี้ แม้จะนำมาซึ่งความเจ็บปวด สูญเสีย สิ้นเนื้อประดาตัว แต่โลกก็ได้สอนบทเรียนทรงค่าแก่เราให้รู้จักธรรมชาติของน้ำ มองเห็นเส้นทางเดินของมันในฤดูกาลอันผันแปร พร้อมกับบอกกล่าวตักเตือนให้เราหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับธาตุทั้ง 4 นี้อย่างสมดุล ด้วยการแบ่งปัน ดูแล ปกป้องรักษาซึ่งกันและกัน

ไม่เช่นนั้นแล้วความพินาศก็จะมาเยือนทุกชีวิตแบบไม่เลือกหน้า

มหาอุทกภัยคราวนี้ยังกระชากหน้ากากนักการเมืองเลวๆ จำนวนมากออกมาให้เราเห็นโฉมที่แท้จริง

สำหรับ ใครที่ฟาร์มล่ม บ้านจมน้ำ หรือปศุสัตว์เสียหาย ก็อย่าได้ปล่อยตัวเองให้จมน้ำตายไปกับมันเลยนะคะ ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังฉายแสงทุกเช้า เราควรจะมีความหวังเสมอ

เมื่อไหร่ที่ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีอากาศ ไม่มีแสงสว่างแล้วนั่นแหละ ถึงค่อยถอดใจลาลับดับตัวเองไปพร้อมกับโลก

ใน โลกเสมือนฟาร์มปลอมของฟาร์มวิลล์ยังล่มได้เลย ถ้าหากเจ้าของปล่อยปละละเลยไม่เข้าไปดูแลเก็บเกี่ยวพืชผลตามรอบเวลาแห่งการ เจริญเติบโตของมัน แบบจำลองชีวิตเกษตรกรในโลกออนไลน์จึงไม่ได้ต่างกันสักนิดจากโลกแห่งความเป็น จริง

แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาหลังภาวะน้ำท่วมรุนแรงนั้น ต้องอาศัยพลังอย่างมหาศาลทั้งทางร่างกายและจิตใจในการฟื้นฟูความเสียหายที่ เกิดขึ้นกับที่พักอาศัย เรือกสวนไร่นา สัตว์เลี้ยง ฯลฯ แต่รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ "ไม้ยืนต้นตาย" เป็นอนุสรณ์แห่งซากของความทุกข์ระทม

พื้นที่น้ำท่วมขังคราวนี้ แทบไม่มีแห่งใดเลยที่น้ำลดลงเร็วภายในสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะถูกแช่อยู่ในน้ำเน่ากันไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน

ไม่ต้องพูด ถึงข้าวในนา ไร่อ้อย มัน กล้วย แปลงผัก สารพัดพืชสวนพืชไร่ ที่สำลักน้ำตายตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ไม้ผลที่ยืนต้นแข็งแรง หรือแม้แต่ไม้ใหญ่ในป่าที่สู้พายุแดดฝนลมแรงมานานเป็นสิบเป็นร้อยปีก็ยากที่ จะทนยืนหยัดอยู่ได้

ลองนึกถึงตัวเราที่ต้องใช้ชีวิตแบบเปียกปอนอยู่ ตลอดเวลาก็แล้วกันว่ามันทุกข์ทรมานขนาดไหน คนที่ไม่เคยเดินในน้ำมาก่อนย่อมรู้รสชาติของการฝ่าสายน้ำเชี่ยวเข้าไปปกป้อง ทรัพย์สินที่บ้าน

หรือแม้แต่การลอยคอออกมารอรับถุงยังชีพหรือขอแบ่ง อาหาร แค่สองสามชั่วโมงก็ยังหนาวสั่นพร้อมที่จะจับไข้ แล้วไหนยังต้องเสี่ยงกับเชื้อโรคนานาชนิดที่ไหลมากับน้ำอีก

ต้นไม้ก็ ไม่ได้ต่างจากเรา เขามีชีวิต มีความรู้สึก เขาเจ็บร้อน หนาว หิว อึดอัด หายใจไม่ออก ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกับการต่อสู้เพื่ออยู่รอดใต้น้ำ โดยไม่อาจเดินหนีไปไหน หรือร้องขอให้ใครช่วยขนย้ายออกไปจากพื้นที่

เรา ต่างก็รอคอยวันน้ำลด ระหว่างวันอันยาวนานนี้ได้แต่ภาวนาให้ต้นไม้ในบ้าน ผลไม้ในสวนยังแข็งแรงพอที่จะต่อกรกับสายน้ำ ยืนหยัดขึ้นมามีชีวิตใหม่อีกรอบ

ฉัน ค้นหาข้อมูลอย่างบ้าคลั่งเพื่อเตรียมตัวกอบกู้ชีวิตให้กับต้นไม้ในสวน แม้จะมีความหวังริบหรี่แค่แสงเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ แต่ก็เปี่ยมล้นด้วยความหวังว่าเราจะช่วยกันสร้างสีเขียวขึ้นมาแต้มโลกได้ ใหม่

อันที่จริงต้นไม้ใหญ่อายุยืนยาวกว่ามนุษย์ก็จริงแต่มันก็เป็น สิ่งมีชีวิตที่เปราะบางไม่ต่างจากคน แถมยังมีข้อจำกัดที่ไม่อาจเคลื่อนที่หนีภัยได้ เมื่อน้ำท่วมขังนาน ไม้ที่ไม่ทรหดอดทนพอจึงมักจะยืนต้นตาย รวมทั้งไม้ผลบางชนิดอาจล้มได้ นั่นหมายถึงความเสียหายถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวสำหรับชาวสวนผลไม้

โดย ปกติแล้วในผืนดินจะมีอากาศแทรกอยู่ตามช่องว่าง เป็นที่อยู่ของคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนที่รากพืชจำเป็นต้องใช้ในการ หายใจ เมื่อมีน้ำท่วมขังที่ว่างเหล่านั้นจะถูกแทนที่ด้วยน้ำ ทำให้ดินขาดการระบายอากาศ ไม่มีออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงราก เหมือนกับคนที่ขาดอากาศหายใจ

ผลก็คือ ตายสถานเดียว

ไม่ใช่ แค่ปัญหาเรื่องขาดอากาศหายใจเท่านั้น ขณะน้ำท่วมอินทรียวัตถุในดิน ไม่ว่าจะเป็นเศษพืชและสัตว์ต่างๆ จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายโดยกระบวนการแบบไม่ใช้ออกซิเจน จึงทำให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ตามมา ขณะน้ำท่วมรากพืชและลำต้นจะอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ ง่ายต่อการโจมตีของโรคและแมลง แถมประสิทธิภาพการดูดน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ต้นไม้ขาดน้ำและธาตุอาหาร ไม่ใช่ว่าพอต้นไม้แช่อยู่ในน้ำแล้วมันจะได้กินน้ำจนสำลักนะคะ โปรดอย่าเข้าใจผิด

กลายเป็นความเจ็บป่วยหลายเด้ง ไม่ต่างจากคนที่กำลังจะจมน้ำตาย

ดัง นั้น...พอน้ำลดลงจนเห็นผืนดินอีกครั้ง ระหว่างที่รอลุ้นต้นไม้แสนรักของคุณให้รอด ขอให้ตระหนักว่าจุดเปราะบางที่สุดก็คือบริเวณใต้ต้นไม้ที่รากแผ่ขยายไปรอบๆ นั่นเอง เพราะสภาพดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย หากเราไปเหยียบอัดให้แน่นลงไปอีกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จะเป็นผลเสียต่อการไหลเวียนของน้ำและอากาศ รวมทั้งกระทบกระเทือนต่อระบบรากของต้นไม้ เพราะจะทำให้รากขาดและอาจเน่าได้ง่าย

วิธีกอบกู้ชีวิตต้นไม้แสนรัก ของเรา ให้เริ่มจากการตรวจสอบสภาพต้นไม้ทั้งหมด โดยเฉพาะไม้ผล หากต้นไหนที่อาการยังไม่โคม่าเพียงแต่ทำท่าจะล้มก็ให้หาไม้มาค้ำยันไว้ก่อน โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปเหยียบย่ำใต้ต้นไม้ จากนั้นให้รีบระบายน้ำออกจากโคนต้นให้หมดอย่างเร่งด่วน

สำหรับสวนผล ไม้ วิธีการระบายน้ำที่เหมาะสมคือการทำร่องระหว่างแถวไม้ผลให้ลึกอย่างน้อย 1 ฟุต ดีที่สุดถ้าทำได้คือ 50 เซนติเมตร ถ้าในขณะนั้นดินยังเป็นเลน ให้ใช้วิธีที่ได้ผลดีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ ใช้ไหขนาดพอเหมาะ ผูกเชือกแล้วลากให้เป็นรอยลึกระหว่างแถว ปากไหจะโกยดินออกมาได้ง่าย แล้วหน้าดินส่วนนี้ก็ยังเอาไปทำประโยชน์ต่อได้อีก ร่องน้ำนี้จะกลายเป็นทางระบายน้ำได้ดี

เสร็จจากร่องน้ำแล้วก็มาถึง ตัวต้นไม้ นักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดินให้คำแนะนำว่า ควรเอาไม้แหวกดินเป็นร่องเล็กๆ บริเวณโคนต้น เพื่อเปิดช่องให้น้ำไหลลงสู่ทางระบายน้ำที่สร้างขึ้นมา ถ้าเป็นไปได้ให้ดึงเศษซากพืชและสัตว์ต่างๆ ที่ดินเลนทับถมออกให้หมด เพราะการสลายตัวของเศษพืชที่ฝังดินตอนน้ำท่วมทำให้เกิดความร้อนและก๊าซพิษ เป็นอันตรายต่อรากพืช



มีวิธีระบายความร้อนและก๊าซพิษออกจาก โคนต้นไม้ขณะน้ำท่วมขังดินแฉะอีกแบบหนึ่ง คือ ใช้ไม้ไผ่เจาะรูปักไว้ใต้โคนต้น เมื่อดินใต้ต้นไม้เริ่มมีช่องว่างให้อากาศเข้าไปอีกครั้งหลังการฟื้นฟูพรวน ดินให้ร่วนซุยแล้ว ความร้อนใต้ดินก็จะระบายผ่านออกมาตามท่อไม้ไผ่ได้ง่ายขึ้น อันนี้ก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีกเช่นกันค่ะ

หลังจากนั้นเมื่อดิน เริ่มแห้งให้ตัดแต่งกิ่ง โดยเอาใบแก่และกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดดออก เพราะใบพวกนี้ปรุงอาหารได้น้อยแต่กินอาหารมาก ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อเป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลควรปลิดผลทิ้งบ้างจะได้ลดการแย่งชิงอาหารกัน

เสร็จ ขั้นตอนเหล่านี้แล้วให้พรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ใส่ในร่องที่ขุดดินขึ้นรอบๆ ทรงพุ่ม ความกว้างของร่องประมาณ 15 เซนติเมตร ลึก 15 เซนติเมตร หรือใส่ที่โคนต้นก็ได้ในกรณีที่ต้นไม้ยังมีขนาดเล็ก

นอกจากนั้น เพื่อช่วยให้ต้นไม้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ควรมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบบ้าง เพราะระยะนี้ระบบรากยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำ สูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 และ 16-21-27 ละลายน้ำฉีดพ่นให้แก่พืชก็ได้

ใครไม่ชอบปุ๋ย เคมีก็มีทางเลือกอื่นหันไปใช้ปุ๋ยชีวภาพแบบน้ำอีเอ็ม ทำเองก็ได้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ถ้าจำเป็นอาจจะต้องพ่นยาป้องกันกำจัดโรคและแมลงบ้าง และเพื่อเป็นการปรับปรุงสภาพดินไม่ให้เกิดโรคอื่นๆ ควรโรยปูนขาว หรือโดโลไมต์ ให้ดินเป็นด่างเล็กน้อย และเมื่อดินแห้งแล้วให้พรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนแก่รากพืชทันที

ใน กรณีที่มีปัญหาโรครากเน่าและโคนเน่าจากเชื้อรา หลังจากน้ำลดแล้วหากต้นไม้ยังไม่ตายให้ราดหรือทาโคนต้นด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตาแลกซิล (ริโดมิล) หรือ อีโฟไซต์-อะลูมินัม (กาลิเอต) สารเหล่านี้ก่อนใช้แนะนำให้หาความรู้เพิ่มเติมเสียหน่อยก็จะดีค่ะ

หวังว่าชีวิตหลังน้ำท่วมของท่านทั้งหลายจะงดงามเติบโตดุจเดียวกับต้นไม้ที่เราพยายามจะเยียวยากอบกู้ชีวิตพวกเขาไปพร้อมๆ กับตัวเราเอง


การเลี้ยงไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,ไส้เดือนดิน,รักษ์ดิน,ฮิวมิคพลัส,มูลไส้เดือนดิน,ปุ๋ยหมัก

Tags : คนรักผัก

view